วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Blogger กับบทเรียนจาก kamtaem | ตอน 1 ไปต่อดีไหม?


แรกเริ่มรู้จัก Blogger จากเพื่อนรุ่นน้อง ผู้มีประสบการณ์ ในการหาเงินในโลกออนไลน์มาหลายปี ก็แน่ล่ะ รายได้ คือแรงดึงดูด กระตุ้นให้อยากมีบล็อกเป็นของตนเอง

ใช่ครับ...หากการเขียนบล็อก มีรายได้ และเป็นรายได้ที่เลี้ยงปากท้องได้ มันก็น่าสนใจมากถึงมากที่สุด เพราะเราพอมีประสบการณ์การเขียนเป็นทุนอยู่บ้าง และเราอยากยึดอาชีพเขียนจริงจัง ไม่ต้องเกาะอาศัยอาชีพงานประจำที่แย่งเวลา อ่าน-คิด-เขียน ของเราไป

คิด เขียน มีรายได้ คือทางที่เราคิดหวัง ไม่ใช่ ทำงานประจำ มีรายได้ ว่างๆ ค่อยคิดค่อยเขียน

ผมจึงเริ่มสร้างเว็บบล็อกนี้มา ตั้งเดือนตุลา ปี 2562  ถึงตอนนี้ก็ครบ 1 ปี แล้ว  และเริ่มมีโฆษณาในหน้าเว็บแล้ว 2 สัปดาห์ แล้วเมื่อวาน ก็โดนระงับการลงโฆษณาไปเรียบนร้อย










เดี๋ยวมาคุยเรื่องโดนระงับกัน  แต่ก่อนคุยเรื่องนี้ ขอท้าวความความเป็นมาของคำแต้มก่อนครับ

ผมสร้าง kamtaem.com ใช้เนื้อหาบทกวีที่เขียนเอง ใช้รูปที่ถ่ายเองทำปก และปกบทความแต่ลำชิ้นก็ออกแบบเอง  ดังนั้น ด้านเนื้อหาจึงผ่านนโยบายของ google ไม่ยาก และจะไม่ถูกระงับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้เลยในชีวิตนี้  ข้อนี้รับประกันตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ต่อหัวใจดวงน้อยๆ นี้

เมื่อลงบทกวี หรือ ที่ผมพอใจเรียกมันว่า "คำแต้ม" ของตนไปได้หลักสิบ หลายสิบชิ้น ก็พยายามวางโค้ดโฆษณาในเว็บ kamtaem.com แต่เราไม่มีความรู้เกี่ยวแก่คำสั่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ จึงหาความรู้และ ทำตามคำแนะนำของกูเกิล  แม้ว่าผมจะผูกบัญชีกับ Google AdSense ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตอนที่ทำช่องยูทูป  ซึ่งใช้บัญชีgoogle คนละบัญชีกับที่ทำ blogger ซึ่งการเชื่อมบัญชีนี้ไม่ได้มีปัญหาแต่ประการใด มันยากตรงนำโค้ดโฆษณา ไปวางใน head to head ของเว็บในฐาน HTML งมซาวลองผิดลองถูกอยู่นานก็ไม่เป็นผล

ระหว่างนั้น เหลือบเห็นคำเชิญชวนใน Google AdSense ของตนว่า ถ้าอัพจาก kamtaem.blogspot.com โดยซื้อโดเมนเป็นของตน จะสามารถเชื่อมต่อกับGoogle AdSense เพื่อให้มีโฆษณาในเว็บที่อัพแล้วโดยง่าย  ซึ่งค่าการจะโดเมนนี้ ตก 3200 กว่านิดๆ โดยผ่อนรายเดือนผ่านบัตรเอา (นี่เริ่มมีค่าใช้จ่ายแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีรายได้เลย)

เอานะ ลุยลองดู  นั่นแหละ ผมจึงได้เว็บ kamtaem.com นี้มา

พอเป็น kamtaem.com แล้ว โพสต์ก็โพสต์ไปใกล้ 100 แล้ว โฆษณาก็ยังไม่ขึ้นอยู่ดี จึงทิ้งไว้ตั้งแต่ต้นปี 2563 แม้ช่วงโควิดที่มีวันหยุดเยอะ ก็ไม่ได้โพสต์ใดๆ เพิ่มอีก น่าจะหยุดไปนานร่วม 3 เดือนนะ  แต่ก็ไม่ได้หยุดงานหารายได้ในโลกดิจิตอลนะ  ไปมุทำคลิปลงยูทูบ ทำแฟนเพจในเฟส แทน

เมื่อต้นเดือนสิงหา หรือกันยา ไม่แน่ใจ  ได้พยายามใหม่อีกครั้ง เพราะมีอีเมลเตือนให้วางรหัสโค้ดโฆษณาลงเว็บตน  คราวนี้ศึกษา copy โค้ด ไปวางใน HTML ใน Theme ของเว็บ 

ทิ้งไว้อีกเกือบเดือน ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2563 นี่เอง  เพื่อนรุนน้องที่แนะนำการสร้างบล็อกเกอร์หารายได้ ทักมาในกล่องข้อความ ว่าเว็บผมมีโฆษณาแล้ว  ดีใจมาก เราคุยกันเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ปลื้มดีใจมาก

นั่น ทำให้มีกำลังใจ วางแผนเขียนงาน และโพสต์ลงตลอดสองสามสัปดาห์มานี้

แล้วหัวใจหักห่อเหี่ยวลง เมื่อเจอการแจ้งระงับบัญชีโฆษณาแล้ว เมื่อเช้า


เอาล่ะ  เข้าประเด็นกัน  ว่าเราจะไปต่อไหม เมื่อมาถึงจุดนี้ หรือจะหันหลังให้พื้นที่เขียนงานในออนไลน์  หันไปเขียนเก็บอย่างเดิม  เขียนจบค่อยขัดเกลา ปรับแรุงพัฒนา  ไเที่ค่อยหาเงินพิมพ์ขายเองอย่างที่ทำมา ซึ่ง ประสบการณ์การตรงนั่น มันสอนเรานะ มันเหนื่อย ได้กำไรนิดเดียว จากการลงแรงใจกายและทุนมากมาย แย่ลงมาอีกก็เท่าทุน หรือแย่สุดๆ ก็ขาดทุนและเสียพลังงานแบบที่นักเขียน-ศิลปิน ไม่ควรจะเสีย

สาเหตุ ก็ตามภาพครับ อธิบายก็ได้  ผมใช้เครื่องเมียเข้าดูเว็บตนเองครับ เข้าดูบ่อยดูนาน เห็นโฆษณาแล้วปลื้ม แต่เราอ่านกติกาไม่ละเอียด  "การดูที่ไม่ถูกต้อง" มันฟ้องครับ 

ทั้งที่ไม่มีเจตนาจะปั่นวิว ไม่เจตนาจะรีเฟรซหน้าเว็บเพื่อเพิ่มการดูโฆษณา แต่ต้องการดูว่ามีโฆษณาอะไนเข้าบ้าง ที่เราตั้งค่าโฆษณาไว้ส่าให้สอดคล้องกับเนื้อหา มันแสดงออกมายังไง ไม่เจตนาจะคลิกดูโฆษณาเดิมซ้ำๆ แต่เพราะสนใจโฆษณานั้นจริงๆ แต่ก็นั่นแหละครับ มันผิดกติกา  ยอมรับผิดครับ ลูกผู้ชายทำแล้วยอมรับ

เป็นอุทธาหรณ์ เป็นบทเรียนครับ  ต้องศึกษา ต้องทำให้ถูกกติกา 

เรามีเนื้อหา มีพื้นที่ มีเว็บ  เจ้าของสินค้ามีสินค้า มีต้นทุน ต้องการคนดูคนซื้อ Google AdSense ก็มีหน้าที่ตัวกลางเชื่อมต่อให้ และเขาก็ต้องได้ส่วนแบ่งตามเกณฑ์ ทั้งสามคนนี้ต้องจริงใจต่อกัน ร่วมมือกันทำให้คนสนใจเข้ามาอ่านงานเขียน มาดูโฆษณาจะได้ขายสินค้าได้เยอะๆ  นี่คือโลกของผลประโยชน์ที่เป็นธรรม...

บทเรียนนี้ เมื่อศึกษาทบทวนแล้ว ผมจึงสรุปเตือนใจตนเอง และแบ่งปันมายังผู้อ่าน ว่าห้ามทำอะไรบ้างในเว็บ blogger ของเรา จึงจะไม่ถูกระงับบัญชีโฆษณา ลองทบทวนไปด้วยกันครับ

   1. ห้ามให้เมีย เพื่อน หรือใครๆ เข้าดูหน้าเว็บหน้าเนื้อหาของเราแบบซ้ำๆ โดยไม่อ่านเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามรีเซตหน้าเพื่อดูโฆษณา ห้ามคลิกดูโฆษณาซ้ำตัวเดิมในหน้าเนื้อหาเดิมที่เปิดอ่านอยู่ หรือแม้มาเปิดอ่านใหม่ก็ตาม  นี่ผมเจอข้อนี้ครับ จึงถูกระงับ 555 (ไม่ได้เจตนา... แต่มันไม่ถูกต้อง)

   2. ห้ามยิงโฆษณาเว็บเพื่อดึงคนมาดูเว็บเราเพิ่มขึ้น  อันนี้ผมไม่โดนนะ แต่เข้าข่าย เพราะผมยิงโฆษณาด้วยเพจในเฟชบุ๊ก 3 ครั้งแล้ว  ต่อไปไม่พึงกระทำ

   3. ไม่ควรแชร์ไปกลุ่มเฟชบุ๊กที่ตนเองสร้างขึ้น  เพราะอาจเข้าข่ายเชิญชวนให้คนเข้าดูเว็บ แบบมีข้อแลกเปลี่ยน หรือสัญญาจะตอบแทน... ตัดปัญหาครับ อย่าทำน่าจะดีกว่า  ถ้าจะแชร์ไปกลุ่มก็ควรแชร์ไปกลุ่มที่คนอื่นสร้าง ที่เราไปขอเป็นสมาชิก

ในส่วนการแชร์ไปในกล่องข้อความหาเพื่อน แชร์ไปเพจ หรือ แชร์ไปฟีดข่าวกน้าเฟชของตน  ก็น่าแชร์ได้ตามปกตินะครับ  แต่ผมว่า ควรแชร์ไปเลย แบบไม่ต้องเขียนอะไรกำกับ

ถึงตรงนี้  ผมว่า ผมจะทำ blogger ต่อไหม จะไปต่อไหม? มันดูมีกติกาหยุ่มหยิม เขาใช้เราเป็นเครื่องมือหากินไหม เราแค่หมากในกระดานใคร อย่างไรหรือไม่  มันคุ้มไหม ถ้าไปต่อ

ผู้อ่านครับ ผมมีคำตอบครับ

ผมจะคิด เขียน โพสต์ลง blogger เว็บ kamtaem.com นี้ของผมต่อครับ โดยจะไม่ไปแตะเรื่องการดูที่เขาห้าม ดังกล่าว

ผมจะคิด เขียน ทำปก โพสต์ไปเรื่อยๆ แชร์ลงฟีดข่าวหน้าเฟช และหน้าเพจ ก็พอ ไม่แชร์ไปในกล่องข้อความหาเพื่อนอีก (มันอาจเป็นเหตุให้ผิดกติกาได้) แต่อาจแนะนำเว็บตนเองแก่คนรู้จักบ้างตามกาลเทศะสมควร 

ลองดูว่า จะมีคนดูเว็บเราจริงๆ แค่ไหน อยากรู้เหมือนกัน

อย่างน้อยเราก็มีพื้นที่เก็บและเผยแพร่งานเขียน ที่พร้อมให้คนเข้มาอ่าน อะนะ

ส่วนรายได้ ก็หวังครับ แต่หวังนิดเดียว เพราะหวังมากจะผิดหวัง กลั้นใจตายไปก่อนอายุขัย.









ผู้ร้อยรุ่น

ลักยิ้มของวันจันทร์
ลานบ้านสีดอกมะยม
ลูกชายไหว้ย่าของหลาน
เลี้ยงดูสองรุ่นแล้ว

เธอยืนต้นหน้าบ้าน
พริ้มดอกประดับร่าง
พร้อยลูกแต่งเรือน

วรรคทองของเงาร่ม
สลักระหว่างวัย
'สะท้อน ย้อนแย้ง'
ย่าหนึ่ง-หลานหนึ่ง

วันแห่งเสียงสรวล
เธอรับแรงปีนป่าย
หลานไปซ้าย
ทั้งที่ย่าพร่ำบอก
"ไปขวานะลูก"

ละครความรัก
ดำเนินเรื่องในลานร่ม
ตราบสิ้นเผ่าพันธุ์

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
อ.5.11.2556

------

|เล่าตามคำแต้ม|
ตอน ชายแจกใบปลิว

ยอมรับ แบบไม่ที่เหตุผลค้าน ชายคนนั้นทำให้คนเมืองเราต้องหันมามองตนเองใหม่ คำถามที่กึกก้องในใจชาวเมืองทุกคน ตั้งแต่เด็กที่เพิ่งคิดอ่านเป็น ไปจนถึงคนชราและคนป่วยหนักจะเข้าโรงในชั่วโมงสองชั่วโมงนี้คือ 

"ส่องใส คืออะไรในตัวเรา ส่องใสจะสว่างไสวแค่ไหนเพียงใด ยาวนานเพียงไหน สำหรับเมืองเล็กๆ ของเรา"

ทุกวัน ชายชรานัยน์ตาดำขลับเป็นประกาย ประหนึ่งแอบไปเปลี่ยนดวงตาเด็กหนุ่มมาหมาดๆ ผิวคล้ำพองาม คล้ำเพราะการเดินกลางแดด เทียวเดินแจกใบปลิวลายมือตัวอักษรธรรมลาว ตามถนนรนแคม ตรอกซอกซอย ไม่เว้นแม้ในสวนส้มแบงสาธารณะประจำเมือง ตามสี่แยกไฟแดง ตามโรงหมอลำประจำทิศของเมือง ตามซุ้มน้ำชาดอกขะยอม...


"ส่องใส" คือคำตัวอักษรธรรม ที่ชายชราเทียวแจกจ่ายยายปัน อันเจตนา ความหมายเพิ่นไม่ได้บอก เพียงแต่กระซิบกับผู้ยอมรับใบปลิวทุกคนว่า "อ่านแนเดอ วันละสามเวลา ตื่นนอน ก่อนข้าวเพล และก่อนนอน  ใผอ่าน ท่องทุกวันตามนั่น จะได้ฮู้ว่า เจ้าของคือใผ ชีวิตที่เกลืออยู่สิก้าวเดินไปทางใด๋"

ชายชราตั้งใจจะแจกจ่ายยายปันใบปลิวนั้นให้ครบ "สามพันใบ" ในขณะที่ชาวเมืองเรามีจำนวนถึงเจ็ด-แปดพันคน 

วันหนึ่ง วันที่เขาแจกใบปลิวครบแล้ว เขามานั่งพักตรงม้านั่งเหล็กสไตล์อังกฤษยุควิคตอเรีย มุมหนึ่งของสวนสาธารณะส้มแบงของเรา บังเอิญเหลือเกิน ที่ผมนั่งอยู่ตรงข้ามเขา ตอนนั้น ตะวันเพิ่งตกดิน เป็นต้นเดือนพฤศจิกา ต้นหนาวพอดี ลมหนาวระลอกแรกจากทิศเหนือแผ่พัดไอเย็นมาปะทะใบหน้าชาวเมืองเป็นครั้งคราว ยามลมแรงเราถึงต้องหลับตา ดลัวฝุ่นดินที่ลมหอบมาด้วยจะเข้าตา  จนทำให้มองอะไรไม่เห็น เขาเพ่งมองต้นส้มแบงที่กำลังจะผลัดใบ ใบเหลืองอ่อนเหลืองแก่เริ่มแผ่ลามทรงพุ่ม ที่ยังเขียวก็เหลือเป็นหย่อมๆ เล็กๆ บางแห่งเหมือนจุดที่แต้มด้วยปากกาหมึกซึมปลายมนขนาดใหญ่ ที่แห้งออกสีน้ำตาลหม่นเริ่มค่อยคืบคลานลามเลียผืนเหลืองแก่ ชายชรามองไปมองมา แล้วก็ก้มลงมองสนามหญ้าตรงปลายรองเท้าแตะของตน

|คีต์ คิมหันต์|
ศ.30.10.2563





































 


วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้ปีนป่าย



พุธของความลิงโลด
รั้วสีดอกเข็ม
บางคนยังสำรวจ
ตื่นเห็นในความตื่น

เธอชวนเพ่งพิศ
ใต้ชายคาสีคล้ำหม่น
ขับดอกไม้ให้เด่นพิเศษ

ท่าทางของถ้อยคำ
เชื่อว่าข้างบน
'สวรรค์ลูกห่าม ๆ'
จักไปชิมรสเป็นยา

ชั่วระยะสุดเอื้อมหนึ่ง
เธอจัดร่างประณีต
ค่อยเคลื่อนกาย
ตามเส้นหญ้าแห้งนั้น

รหัสความสูงต่ำ ยากง่าย
ขานอ่านได้ด้วยรอยยิ้ม

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
อา. 3 พ.ย. 2556

------

|เล่าตามคำแต้ม|
บ้านเช่าฝาไม้ไผ่สาน

นับหลายเดือนแล้ว ที่เขาย้ายเขามาอยู่บ้านเช่าหลังนี้

บ้านไม้ใต้ถุนโล่ง หลังคามุงสังกะสี ฝาไม้ไผ่สานประณีตออกสีหม่นเป็นผนังรอบตัวบ้านชั้นสอง ที่ไม่กั้นห้อง มีบันไดไม้อยู่ตรงมุมด้านใน ลงขั้นสุดท้ายมาแล้ว เดินวนออกไปทางซ้ายนอกชายคา ไม่ถึงสิบก้าวก็เป็นห้องน้ำหลังเล็กที่ปลูกขึ้นติดรั้วลวดหนาม มีต้นมะม่วงใหญ่ให้ร่มเงา ถัดจากห้องน้ำไปตามแนวรั้วอีกราวยี่สิบก้าวเป็นบ่อน้ำส่าง นี่คือจุดขายของบ้านหลังนี้ที่เขาพอใจมาก

ชายชรานั่งจิบชาใบป่าช้าเหงาอยู่บนแคร่สะแนนไม้ใผ่ ตรงมุมใต้ถุนบ้านด้านติดถนน มีรั้วกระถินแคระสูงเพียงเอวกั้นอยู่ ลมหนาวระลอกแรกเริ่มแทรกตัวมาในทุกอณูอากาศ เริ่มจากวันที่ 14 ตุลาคม ถึงวันนี้ก็นานเป็นสองสัปดาห์แล้ว มันช่วยได้มากทีเดียว สวนผักหลังบ้านดูจะดีใจ แตกใบเขียวก่องผ่องแพร้วน่าเก็บลวกจิ้มแจ่ว 

เช้านี้ เขาเพิ่งโรยปุ๋ยขี้ไก่เดือน บรรจงใช้ครุถัง ตักน้ำในบ่อส่างขึ้นใส่บัวรดน้ำ พอเต็มแล้วก็หาบบัวรดน้ำให้ลูกน้อยๆ ทั้งแปลง ฉ่ำชื่นจากใบไปจนถึงรากในเนื้อแผ่นดิน แล้วนั่งลงถอนหญ้า-วัชพืช สายตาหาเก็บตัวบ้งตัวหนอนไปทิ้ง ขณะปากก็ฮำเพลงลำ ทุ่งร้างนางลืม ของไก่ฟ้า ดาดวง สำนวนกลอนลำเดินขอนแก่นอันลือลั่นของอาจารย์สุพรรณ ชื่นชม

เหมือนเด็กหนุ่มสี่คน ในความฝันเมื่อคืน เหมือนกำลังเดินใกล้เข้ามา ใช่สิ พวกเขาคงว่างแวะมาทักถาม ขณะเขาจิบชาถ้วยที่สอง

ทั้งสี่หนุ่มน้อย กลับจากวิ่งออกกำลังกายยามเช้า วิ่งจากบ้านเช่า ไปตามทางในหมู่บ้าน ทะลุออกสู่ทางระหว่างหมู่บ้าน  สองข้างทางขนาบด้วยท้องทุ่งนา ข้าวกำลังทอรวงใหม่เขียว เสียงหมอลำรุ่งโรจน์ เพชรธงชัย ลำเพลินกลอนหน้าฝนทนเศร้า  ...จวนสิถึงกฐิน กลิ่นนางบ่ทันผ้อ ปอตัดแล้วซุมแนวบ่จ่ง... มาวอนๆ จากวิทยุใครสักคน เคล้าเสียงลมหนาวพัดมาเข้าจังหวะ ปลุกป่าข้าวกองามเต็มทุ่งให้วาดไหวโอนเอนยวบยาบ  เป็นคลื่นระลอกเขียวคล้ายมหกรรมความฝันอันยิ่งใหญ่... แสงทองค่อยๆ เรื่อเรืองขึ้นทาบทาทีละน้อยๆ เสียงรองเท้าผ้าใบสีน้ำตาลที่ห่อหุ้มเท้าทั้งแปด ตกกระทบทางดินแซมหญ้า ดัง ปุ๊บปั๊บๆ เป็นจังหวะ ค่อยๆ เงียบหายไป...

เขาเฝ้าดูเด็กหนุ่มทั้งสี่ทำกิจวัตร ตั้งแต่อ่านหนังสือ จัดหนังสือ-สมุดตามตารางเรียน หม่าข้าว  เข้านอน ก่อนฟ้าจะสาง เด็กหนุ่มคนแรกจะตื่นมาก่อไฟจากฟืนไม้แห้งที่เก็บจากกิ่งไม้หักภายในบริเวณบ้าน ซาวข้าว ล้างใส่หวด ตั้งหม้อนึ่งข้าว รอเพื่อนอีกสามคนตื่น แล้วออกไปวิ่งออกกำลังกาย กลับมาถึง คนหนึ่งส่ายข้าวใส่ก่องกระติบ อีกคนเจียวไข่ใส่ผักที่เก็บจากริมรั้วและแปลงปลูก คนที่สามกำลังตักน้ำรดผักสวนครัวในแปลง คนที่สี่อาบน้ำ แต่งตัว แล้วมาเตรียมภาชน์ข้าว รออีกสามคนเวียนกันเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ล้างจานเสร็จก็จบภารกิจประจำเช้า จากนั้นเด็กหนุ่มทั้งสี่ก็คว้าสมุดหนังสือ ออกเดินไปโรงเรียนพร้อมกัน...

ชายชราจิบชาถ้วยที่สาม "วันนี้สินะ" เขาพึมพำ สายๆ จะออกไปรอเพื่อนสามคน ที่ส่งข่าวมาบอก "นัดกันมาระลึกความหลังสักหน่อย"

สถานีขนส่งเล็กๆ ในเมืองเงียบๆ แห่งนี้ อยู่ถัดออกไปสามบล็อก เขาสวมรองเท้าแตะ เดินเล่นไป ฮัมกลอนลำไป เหมือนเด็กหนุ่มมัธยมในอดีตสักคน

"บ้านหลังเดิมน้อนี่ เข้าใจว่าอ้ายอ๋อ ผู้เป็นเจ้าของมาบูรณะโดยใช้โครงสร้างเดิมๆ แท้ๆ" เพื่อนผมสีดอกเลาพูดขึ้น มือขวาดึงสายสะพายกระชับเป้ใบย่อม ขณะเดินผ่านประตูรั้วเข้ามา
"แปลกแท้เด ทุกอย่างดูเหมือนเดิมตั้งแต่ 32 ปีที่แล้ว" ชายแก่หน้าหนุ่มที่สวมกางเกงยีนส์สีดำพูดบ้าง
"ฮ่าฮ่าฮ่า...น้ำส่างยังอยู่ ห้องน้ำทรงเดิม ...นั่นเจ้าปลูกผักบนที่ที่เก่า แต่งามกว่าเก่า" อีกคนน้ำเสียงตื่นเต้น
"คึดหมั่น สื่อๆ ดอก" เขาอมยิ้ม เหมือนตนฝันไป ฝันเป็นตุเป็นตะทีเดียว

คีต์ คิมหันต์
อัง. 27 ต.ค. 2563































วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้บันทึกรัก


เช้าผ่องของวันพฤหัส
เฮือนเฮาสีดอกสะเลเต
นกนักเพลงบนกิ่งมะยม
ขับลำทำนองล่องโขง

เธอชูช่อสะพรั่ง
ข้างโอ่งมังกร
เผยอดีตสรรวันพระ

สัมผัสของกลีบมน
ดั่งบทกวีในกัณฑ์เทศน์
บุญออกพรรษา
'อีกเก้าเดือนอันรกเรื้อ'

แม้ยามหลับสงบ
เธอก็แอบบันทึก
วรรณกรรมความรัก
แซมหูผู้เฒ่า
บนหิ้งพระ

รอมือดี
เก็บกำ
นำดอกแห้งไป
โปรยธรรม

|คำแต้ม by ทางหอม|
อา.3.พ.ย.2556

-----

|เล่าตามคำแต้ม|
นักปลูกมือทอง

เป็นเรื่องหนักใจที่สุด พืชผักไม้ผลไม้ดอกที่เขาปลูก ต่างแข่งกันงอกงามให้ใบให้ดอกให้ผล จนเขาไม่มีเวลาอยู่สงบได้  ทุกบ้านในเมืองเล็กๆ ของเรา ต่างแย่งกันจองคิวเขา จนตารางงานยาวไปอีกยี่สิบปี

การจับพลัดจับผลูมาประกอบอาชีพ ที่คนไม่เคยรู้จักมาก่อน หรือไม่เคยคิดกันเลยว่า จะมีขึ้นในขุมชนเมืองของเราได้ นี่เป็นเรื่องบังเอิญโดยแท้

จำได้ไหม ชาวเมืองของเราทั้งหลาย วันที่เจ้าของไร่หอมแดงเจ้าหนึ่ง ออกมาให้สัมภาษณ์ในวารสาร "มนต์หอมกระเทียม" ว่าทำไม เขาจึงสามารถทำรายได้เป็นตัวเลข 7 หลัก จากการปลูกหอมแดง 4 ไร่ เพียงฤดูกาลเดียว

"ทำได้จั่งใด๋ ปลูกหอมแดงโพนเดียว 4 ไฮ่ ได้เงินล้าน"
"อืมมม... ข่อยกะบ่อยากเชื่อคือกัน  แต่ฮู้บ่ ข่อยมีมือดีมาส่อยปลูกให้เด"
"อธิบายหน่อย ได้บ่น้อ"
"ได่ยุๆ เขาคนนั่นล่ะ มาปลูกผักบั่วให้"
"ใผล่ะนอ บอกแนๆ"
แล้วคำอธิบายเกี่ยวแก่การจ้างเขา ก็ชัดแจ้งกระจ่างขึ้น ราวแสงนวลผ่องของดวงเดือนคืนเพ็งสิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด นั่นล่ะๆ

ภายหลังที่ทุกหลังคาเรือนได้อ่านบทสัมภาษณ์นั้นแล้ว  เขาก็กลายเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเมืองของเรา 

เขารับจ้างปลูกแฮกผัก ผลไม้ ต้นไม้ แม้กระทั่ง หว่านเมล็ดหญ้า... พอเขาลงมือแค่ต้นเดียว ไร่นั้น สวนนั้นก็กลายเป็นสวรรค์ กลายเป็นความหวังความฝันที่เป็นจริง  อย่างที่ใครๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้

|คีต์ คิมหันต์
จ. 26.10.2563












วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้รำงับ


ขาดพร่องสิ่งใด
ใครเล่ารำพันเศร้า
ราวกับโลกใกล้ล่มสลาย
ระงมเสียงร่ำไห้โหยอ่อน

เธอยื่นหน้ากวักเรียก
มาสิมิ่งมิตร
อิ่มเอมเต็มตื่นสถาน ยังรอ

สักวรรคกวีฉ่ำ
ดับกระหายอันทุรน
สักบาทกวีชื่น
คลายร้อนระอุอันทุราย

เธอเกิดมาพร้อมสรรพ
ทุกนาทีมีเผื่อแผ่
ดอกยินดีชดช้อย
กลีบรู้ พอเบิกบาน

แม้จังหวะลมสงัด
ยังอ่อนโยนโอนอารี
ประหนึ่งเล่นล้อกับโลกแล้ง

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
พฤ. 28.11.2556

🍃🍃🍃🍃🍃


|เล่าตามคำแต้ม|
ปางนั้น

ผมคุยกับเธอเสมอ แม้ไร้ถ้อยคำเอื้อยเอ่ย

เธอเดินทางมาจากฟากโลกหล้าไกลโพ้น ยื่นนิ่งที่หน้ากระท่อม กี่วันคืนแล้ว ที่ไม่ได้พบกันขณะเปิดประตูกระท่อมมาเจอ พลันใจผมกระหวัดถึง ฉากเล่าปี่ไปคุกเข่าหน้ากระท่อมเด็กหนุ่มนาม ขงเบ้ง  ผมเป็นเล่าปี่-นอกระท่อม เธอคือขงเบ้ง-เจ้าของกระท่อม

เธอสวมกางเกงยีนส์สีน้ำเงินเข้มตัวเก่า ผมจำได้ดี เสื้อยืดก็ตัวเก่า คอกลมสีเดียวกัน มีอักษรธรรม 'นา' ตัวใหญ่สีเทาสว่างตรงกลางเสื้อด้านหน้า จากใต้คอเสื้อลงมาเกือบถึงชาย เธอกำลังปลดเป้สีแดงดอกกะโดนที่สะพายมา ชักศอกซ้ายไปข้างหลัง ยกมือชักท่อนแขนแข็งแรงสอดลอดสายสะพาย ปล่อยให้สายสะพายทางซ้ายเป็นอิสระ ก่อนยืดตัวขึ้น ยกมือซ้ายกำสายสะพายอีกด้านเหนือมือขวาที่กำอยู่ก่อนแล้ว เผยเห็นรอยต่อระหว่างหัวกางเกงยีนส์ไร้เข็มขัดกับชายเสื้อยืด นั่น! เอวบางขาวนวลกระจ่าง ผมก้มลงมองพื้นดินแห้งมีใบส้มแบงแห้งเรี่ยราย "ขอเข้าไปได้ไหม" เสียงใสคมหนักแน่นเหมือนนางเอกหนังคาวบอยคนหนึ่ง "เชิญครับ" ที่จริงผมคิดได้ภายหลังว่าควรตอบเธอไปว่า 'ได้สิครับ ได้เลยๆ' แต่ปากเจ้ากรรมก็ตอบไปแบบนั้นก่อนแล้ว ช่างกระไร...

หลังชงชาดอกพะยอมใส่หม้อดิน มารินใส่ถ้วยกาไก่ใบหย่อมให้เธอ ผมก็นั่งตรงข้ามเธอตรงชุดม้านั่งไม้หมากกลางกระท่อม สายลมหนาวกรรโชก ต้นส้มแบงด้านนอกกำลังทิ้งใบสบัดพลิ้วลงเพิ่มจำนวนเกลื่อนลานหน้ากระท่อม อย่างไม่ต้องสงสัย เธอยกชาขึ้นเป่า "ไม่หนาวรึ ใส่เสื้อยืดตัวเดียว" เธอจิบชาช้าๆ ค่อยๆ เผยอยิ้มบางๆ กลีบริมฝีปากอวบอิ่มสีชมพูจางๆ มีน้ำชาพะยอมแต้มทาค่อยระเรื่อขึ้น "พึ่งถอดเสื้อกันหนาวออก เหงื่อชุ่ม"

ผมถาม เธอเล่า 

เรื่องราวเบื้องหลังเธอค่อยๆ เผยตัวขึ้น พร้อมๆ กับแสงเช้าที่ค่อยสาดส่องอาบทาโลกรอบกระท่อมสีใบส้มแบงให้ค่อยๆ ละลานตา แน่ล่ะ ผมเคยหวังลมๆ แล้งๆ ว่า เธอจะแวะมาสักครั้ง หรือเธอจะใส่ใจมาเยี่ยมยามสักหน ก่อนชีวิตวันหนุ่มใหญ่จะร่วงหาย แน่ล่ะ เราเคยรู้จักกันเมื่อสิบสองปีก่อน ในหน้าที่ของคนเมืองบางประเภท เสียงเล่าเรื่องราวที่เธอพานพบ ไพเราะกว่าเสียงเพลงใบไม้ใดๆ ต้องลมในป่าชีวิตที่เหลืออยู่ของผม แม้มันจะดูอมหม่นเศร้าก็ตาม แต่ละเรื่องผ่านไป เหมือนใบส้มแบงหล่นพื้นแท้ทีเดียว บางเรื่องยังหมาด สีเขียวยังเหลือแต้มนิดแต้มน้อยแกมน้ำตาล บางใบมีรอยกัดแทะของแมลงเป็นรู เป็นเว้าๆ แหว่งๆ รอบขอบใบ บางขนาดจิ๋วสมบูรณ์แห้งสนิทแนบทรายดิน...


ตรงหน้า...วันนี้
เธอกับดอกหญ้ากลางลานใบส้มแบงหม่นดูคล้ายกัน 
ผมคุยกับเธอเสมอ อย่างน้อยก็ในความคิดถึง และความฝันเป็นครั้งคราว.

|คีต์ คิมหันต์
ศ. 23.10.2563


















วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้ถ่วงดุล


โอ ผลแห่งความเชื่อมั่น
จักรวาลแคบลงถนัด 
ทุกอณูสัมผัส
เยือกเย็น ยิ้มแย้ม

เธอติดกับขั้วแม่
ผูกธาตุสัมพันธ์ 
เหมือนยังเขลาขลาด
คล้ายกัดกร่อนกตัญญู

น้ำหนักรักแท้ถ่วงดุล
กี่พลังวาตะก็คารวะ
ใครกันเล่าเพ่งพบ
สงบตลอดสายทางชีวา

พลอยสะอ้านวัยละอ่อน
มรกตสกัดวัยหนุ่มสาว
ค่อยขับทองวัยสะท้อน

เธอหล่อเลี้ยงผู้ผ่านทาง
น้ำใจผู้ฝึกตื่น ชื่นกมล

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
พ. ๒๗ พฤศจิกา ๒๕๕๖

------------------------------

|เล่าตามคำแต้ม|
หมากไม้บางชนิด

"ไม่เคยรู้จักหรอก" เขาพูดเหมือนจะสารภาพ "กระทกรก เสาวรส อะไรนี่" พลางจ้องตาคู่สนทนา "ใช่! เมื่อสักสิบปีมานี่เอง ที่เขาฮิตกินน้ำปั่นผลไม้ และต่อด้วยกาฟงกาเฟกาแฟ"

ผมกับเขาช่างเหมือนกันยังกะแกะ ไม่ปักใจตามหรือสันเด๋อสันเดิดกับแฟชั่น ผิดกันก็แต่เรื่องที่แฟชั่นรอบข้างมาจุดไฟให้คิดทำ เขาอาจไม่ยอมเรียนรู้มัน รู้แล้วผ่านเลยไป แต่ผม รู้แล้วอยากรู้ถึงแก่น มันคืออะไรแน่นะ

ร้านอาหารในยางชุมน้อย เมือสักยี่สิบห้าให้หลัง มีไม่กี่ร้านที่พอจะรับรองแขกคน ที่มีตำแหน่งขีดขั้นได้ หนึ่งในนั้นคือ ร้านป.แป๋ว เป็นร้านของผู้หญิงแกร่งเมียครูเกษตร

ครูสอนปลูกพืช ตอนกิ่ง ทำนา ทำอาหาร ผู้ปลูกฝังแนวคิดรักษ์ป่าบูชาธรรมชาติแก่ผม เมื่อครั้งเรียนป.ปลาย ครูศิริพงษ์ ทองแสง ชื่อที่เด่นขึ้นมาในทรงจำ

ผมไม่เคยไปนาไปสวนเกษตรของครู แต่อนุมานเอาว่า ต้องมีพืชผักและไม้ดอกไม้ผลงอกงามดี ด้วยทักษะความรู้และประสบการณ์ด้านเกษตรของครู บวกกับความขยันหมั่นสร้างสา 

ผลผลิตจากนาสวนของครู ป้าป.แป๋ว นำมาประกอบเป็นอาหารขาย เจ้าน้ำเสาวรสนี่ก็ด้วย อย่างที่กล่าว แค่สิบปีมานี้ล่ะ ที่ผมเริ่มรู้จักหมากไม้ชนิดนี้ ก็จากร้านป้า ป.แป๋วนี่เอง

ความทรงจำเรื่องหมากไม้ของผม มันเป็นความทรงจำของคนท้องนาป่าเห็ดป่าใหม่ป่าละเมาะ ดงหัวนา รู้จักพวกหมากยางเครือ ผีผ่วน ลอมคอม ส้มลม หว้าแล้ง หว้าดำ หว้าสีชมพู ส้มมอ หมากหาด ขามป้อม... พวกนั้น  

นา ป่า สวนวัยเด็กของผม ไม่มีเสาวรส หรือ กระทกรก ผ่านหู ตา และหัวใจ

อย่างไรล่ะ อยู่ๆ วันดีคืนดี ก็ได้หมากสุกเสาวรส มาแกะหว่านเมล็ดไว้โนนเถียง แน่นอน เสาวรสมันก็พึ่งรู้จักผม ก็เมื่อสี่ห้าปีมานี้ เช่นกัน

"สบายดีเพื่อนหมากไม้" เขาในตัวผมทักทาย วันไปชมสวนเถียงนา ต้นฤดูหนาว คราวข้าวกำลังใกล้สุกเหลืองกล้วย รอฤดูเก็บเกี่ยวหวนมาอีกคราหนึ่ง

|คีต์ คิมหันต์
พฤ. ๒๒ ตุลา ๒๕๖๓


  

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้ตื่นอยู่

ใครบ้างค้นลงไป
เปิดใบบังค่อยแจ้ง
ไขที่ข้องค่อยโล่ง
เฉลยคำตอบดวงตะวัน

เธอบอบบาง
บำรุงเบิกบานมิเผลอตน

นั่น! แมลงหิวจัด
ก้มกัดญาติมิตร
เธอตื่นอยู่ เพียรพร้อม
วันคลาดแคล้ว คืนเตรียมสู้

ใกล้มัจจุราช
ทางรอดแนบข้าง
ผลน้อยๆ เติบตนขึ้นแทน

เสียงสวดสาธุการ
ส่องใสสอดสานกังวาน
โลกมอบอิสริยยศ
ขณะมือเยาว์ปลิดใบปลื้ม

| คำแต้ม  by ທາງຫອມ|
พ. ๒๗ พฤศจิกา ๒๕๕๖
---------------------------------

|เล่าตามคำแต้ม|
ตอน แตงกว่าอ่อน

ใครเคยลิ้มรสหวานผลแตงกว่าอ่อน  จากเถาว์ตรงหน้า มือเด็ดขึ้นมา เช็ดขากางเกงมอมสีขี้ตม ย่อมรู้รสชาติดี

แน่ล่ะ กัดเคี้ยวกลืนกินก่อนข้าวเช้าข้าวงาย เหมือนเป็นผลแห่งกรรมดีแต่ปางใด ธรรมชาติจึงประทานให้ได้ลิ้ม

ไม่นานมานี้ ผมเคยไปเลือกแตงกว่าอ่อนที่ตลาด ดูแผงแม่ค้าพ่อค้าหลายเจ้า 
ลูกงามๆ ทั้งนั้น ในใจนึก 'แผงใดเล่า สดสวยแบบไม่มีสารพิษจากยาฆ่าแมลง 
จากปุ๋ยทางใบ จากลมฝุ่นควันตกค้าง' ใจหนึ่งว่า 'นำไปแช่น้ำ ล้างออกได้น่า' 
อืมม...

พลันนึกถึงโพนหอมแดงของพ่อ  ที่แม่นำเมล็ดแตงกว่าไปแหนบไว้ต้านตีนโพน
รดน้ำ ให้ปุ๋ยหอมในแปลง  แตงกว่าที่ต้านตีนโพนก็งอกงามตามกันไป ก่อนสองเดือน ที่ครบกำหนดกู้หอมไปแขวนตากใต้ตะหล่างเฮือน ผลแตงกว่าก็อวดตน ให้คนสวนได้ลิ้มรสแห่งแรงงาน ผลกรรมทำเองนี่ล่ะ หวานใจนัก

ตอนนั้น ผมยังเด็ก ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยทางราก ทางใบยังมีน้อย ไม่แพร่หลาย ไม่แย่งโฆษณาค้าแข่ง ชาวสวนยังไม่มีหนี้ ไม่ต้องเร่งรัดตนทำของออกขาย  ปลูกหอมได้หอมแก่หอมหัวต่ง เก็บไว้กินไว้ฝากเป็นแก่น มัดออกขายเป็นทุนรอนชีวิตสืบมื้อ

วันนี้ ผมขาวหงอกแซมหัว หวนทบทวน ตอนผมออกจากบ้านมากระมัง ค่าเทอม ม.ปลาย วิทยาลัย... ค่าแลกเอาโอกาสศึกษาสมัยใช่ไหม? เป็นหนึ่งเหตุให้ชาวสวน
ในท่งข้าวนาหอมต้องเป็นหนี้ และถีบตนเป็นนักปลูกสินค้า หรือว่ามีเหตุอื่นๆ ใดบ้างเล่า?

ผมอยากกลับไปเก็บแตงกว่าต้านตีนโพน ลูกน้อยๆ เช็ดขากางเกงดำชุดทำงานที่ช่างวัดตัดพอดีตัว แล้วกัดกินอีกครั้ง มันจะหวานเหมือนวันนั้นไหมหนอ...

| คำตามคำแต้ม by ທາງຫອມ |
สวยๆ พ. ๒๑ ตุลา ๒๕๖๓
ในเมืองใหญ่ตรงข้ามปากเซ

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้โปรยทาน

เช้าของวันอังคาร
บ้านสีดอกเฟื่องฟ้า
ใครสักคนบันทึกโลก
บรรจุใจดวงงาม

เธอย้อยระย้า
เหนือเถียงนาอัปลักษณ์
รอลมพรมพลิ้วอยู่เงียบ ๆ

มิแยแสสังคมไม้
มิเบื่อป่ายปีนคาคบ
เท่าที่รากจะหาอาหาร
หล่อเลี้ยงให้เลาะเลื้อย

กระทั่งสาย  แดดกล้า
กระทั่งล้า  โปรยดอก
ระบายสีม่วงชมพู
ให้แผ่นดิน
ให้ฉากชนบทอิ่มสีสัน
ให้หยิบยื่นในคุณค่า
'เพียงเท่านี้'

| คำแต้ม : ทางหอม |
ศ. ๑ พ.ย. ๒๕๕๖


|เล่าตามคำแต้ม|
เถียงนาและเธอ

หน้าบ้านพักครู ที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอยางชุมน้อย บ้านเกิด 

ผมสั่งเถียงนาน้อยจากช่างทำเถียงอาชีพไทบ้านธาตุน้อย มาตั้งหน้าบ้านพัก ข้างโรงจอดรถ 
เป็นเถียงนามุงไพหญ้าคา สะแนน-แคร่ไม้ไผ่ขนาดสองคูณสองเมตรครึ่ง ทอดตัวอยู่ตรงกลางเสาไม้หน้าสาม น่านั่ง-นอน

เรา มีป้านอง พี่มณฑา เมีย และผม ใช้เป็นที่นั่งเล่น นอนเล่น พูดคุย กินข้าว...

ข้างเถียงนั้น ป้าซื้อเฟื่องฟ้ามาตั้งหนึ่งกระถาง ส่วนใหญ่ป้าล่ะ เป็นคนรดน้ำ ดูแล

เธอเติบโตตามกาลเวลา จนวันหนึ่งก็เลื้อยขึ้นบนหลังคาเถียง แตกต่อก้านแผ่ใบให้ดอก 
พอบาน กลายเป็นพวงระย้าสีชมพูดูช่างน่าชมยิ่งนัก

วันหยุด ผมมักมานั่งเล่น และเฝ้ามองพวงระย้าที่ห้อยลงมาตรงมุมชายคาเถียง

เหมือนเธอทักทายผม  เหมือนผมได้พบเพื่อนเก่า  เราสบตากันและก้าวออกเดินทางไกล
ไปสู่แผ่นดินที่แสนคุ้นเคย  ที่ไหนสักแห่งซึ่งแสนรื่นรมย์

|คีต์ คิมหันต์|
อัง  20 ตุลา  2563

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้เขียนคำนิยม

สายลมของวันพฤหัสฯ
โลกสีดอกเข็ม
ใครกี่คนนิ่งคำนับ
คารวะเท้าทั้งคู่

เธอแน่วเด่น
เหนือแนวหญ้า
อวดรูปลักษณ์ง่ายงาม

ภาษาของแสง
ถ่ายทอดสาระของมิตร
ชั่วขณะนิรันดร์
"ไร้สรรพคุณ"

ตลอดวันแสนยาว
เธอเขียนคำนิยม
ตัวบรรจงเต็มบรรทัด
สำหรับฟ้าดิน
และสายลมแสงแดด

รอค่ำคืนของดาวฟ้า

| คำแต้ม โดย ทางหอม |
-31 ต.ค. 2556-


|เล่าตามคำแต้ม|
ตอน ชายนักถาม

บรรดาชายในเมืองของเรา น้อยคนนักจะยอมให้ชาวเมืองลืมชื่อและคุณสมบัติของตน หรือพูดอีกอย่าง ความนิยมของชาวเมือง คือส่วนสำคัญของจิตวิญญาณทำให้ชายในเมืองนี้มีชีวิตชีวา พวกเขาจึงจะมีกะจิตกะใจออกไปทำการงาน หาเลี้ยงครอบครัว และพัฒนาบ้านเมืองในวันต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมยามเย็นก่อนกลับบ้าน ที่ร้านดื่มนิยม ร้านเครื่องดื่มตรงมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของลานจตุรัสใจกลางเมืองหอม ร้านที่ทุกคนมารับการยืนยันชื่อและสกุล พร้อมการันตีคุณสมบัติ จากคณะนักโฆษณาแห่งเมืองประจำร้าน ที่ทำการแสดงวาทกรรมอำพรางต่างหมอลำหมู่และวงดนตรี

บ่ายสี่โมงเย็นวันนี้ แปลกไป เมื่อประหยัด หนุ่มใหญ่โสดและแพงยิ้ม ก็มาที่ร้านดื่มนิยมกับเขาด้วย "รับไวน์ผลไม้แห่งเมือง หรือ เหล้า เบียร์ หรือกาแฟ หรือชาใบมอน ดีนออ้าย" พนักงานสาวน้อยฮูปห่างคีงคือนางอัปสรปราสาทวัดพูจำปาสักยิ้มให้แขกหน้าใหม่ เป็นครั้งแรกที่เธอเจอหนุ่มใหญ่มาดนิ่งแบบนี้ "ไวน์กะดีเดอ" เขาหันไปสบตาเธอ

ประหยัด ถูกชาวเมืองหลงลืมชื่อและคุณสมบัติตั้งแต่เรียนจบ ป.6 เขาปลีกวิเวก เข้าไปในป่าสงวนประจำเมือง  ง่วนอยู่กับการเกี่ยว ตาก เก็บ ไพหญ้าคา และรอคนเข้าไปรับซื้อไพหญ้ามาขายให้คนในเมือง แม้ไพหญ้าจะมีคนไพถึง 5 เจ้า แต่ก็มีเพียง 4 เจ้า ที่ทุกคนกล่าวขานชื่อด้วยความนิยมชมชอบอย่างชื่นชม ว่าผลงานพวกเขาเข้าขั้นเทพ ช่างเปี่ยมด้วยคุณภาพยิ่งนัก ส่วนประหยัด หามีใครรู้จักไม่ อาจเพราะพ่อค้าคนกลางนำไพหญ้าคุณภาพระดับเพชรของเขาไปรวมกับไพหญ้าของเจ้าใดเจ้าหนึ่ง หรือคละปนไปกับทุกเจ้า ก็มิอาจรู้ได้ แล้วเขาก็ปิดป้ายขายเป็นไพหญ้ายี่ห้อของเจ้านั้นๆ

บรรยากาศในร้านดื่มนิยมเย็นนี้ ดูเงียบเหงาที่สุดในรอบ 7 ปี ไม่ใช่เพราะมีประหยัดมานั่งอยู่ดอก แต่เป็นเพราะประธานเมือง มีตารางงานจะมาที่จตุรัสแจ้งให้ชาวเมืองได้รับฟังแนวปฏิบัติร่วมกัน เกี่ยวกับการยกเลิกและห้ามมุงหลังคาด้วยไพหญ้าในเมืองเล็กๆ นี้ อีกต่อไป

ชายที่ไม่มีชื่อ ไม่เป็นที่นิยมในคุณลักษณะพิเศษ นั่งเงียบๆ ตรงม้านั่งปีกไม้ยางนา ใต้ร่มตากบมุมร้าน จิบไวน์บักผีผ่วนในขวดแก้วขนาดจิ๋ว ดวงตานิ่งแน่ว คำถามแสนล้านที่เก็บงำบ่มร่ำจนได้ที่ปานไวน์พันปี เป็นประกายฉายโชนไปยังที่ประชุมของกลุ่มคนมากชื่อเสียงนิยมตรงนั้น ปานจะเผาเสียให้มอดไหม้เป็นผงถ่าน ราวตั๊กแตนอีแม่แจ้ปีกลายเขียวแกมเทาน้ำตาลหม่นตกไปในดงไฟฟางกองสูงเทียมต้นมะพร้าวตรงเถียงนาที่ไหนสักแห่ง.

|คีต์ คิมหันต์|
ส. 24.10.2563

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ฮั่ว

ปานว่า
สิกั้นกางสองข้าง
ให้ห่างให้หาย
ให้เป็นอื่น
ให้ฮักเป็นฮ่าย
ให้ในเป็นนอก
ให้สุดขาดบั้นบ่อนแพง
ให้เหลือใจเหลือหมก

ปางนั่น
กลัวเกรงย่าน
อันตรายภายนอก
การทำร้ายที่อาจเผลอป้องกันด้วยตา
ที่อาจไร้เวลาดูแล

เหมือนฝากทุ่งข้าวไว้กับลมฝน
อาจวางใจ
อาจไร้พิษ

วันหนึ่งไหน
ฮั่วหาย
รั้วถูกทำลาย
กลัวสิ่งใดเพิ่ม
กี่เท่าทวีพาล

| คำแต้ม โดย ทางหอม |
ส.17.10.2563



วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ขัว

ตอนเด็ก
มิรู้จักขัว
แต่สะพานในหนังสือเรียน
เห็นเป็นสิ่งก่อสร้าง
ทำจากปูนสีขาว

ตอนหนุ่มน้อย
พ่อบอก "นั่นขัวไม้"
ดูแล้ว ไม้ต้นใหญ่พาดข้ามลำห้วย
เราใช้ไต่ไปมา
ในฤดูทำนา

ตอนโต
ขัวหดตัว หายตัว
สะพานขยายตน พองตน

ตอนเป็นผู้ใหญ่
ขัวหวนกลายเป็นเพื่อนสนิท
ปลอบโยน และยิ้มให้
สะพานกลายเป็นสัตว์ประหลาด
พาดให้ข้ามมาไกลห่าง...

ทางหอม 
ศ.16.10.2563

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ซอด

เขายืนคันแท
แลท่งข้าวถอก

บางช่อตูมตั้ง
บางช่อพวมซอด
บางช่อซอดทั้งช่อ
บางช่อซอดหลายมื้อแล้ว

สายลมฝนต้นตุลา
โปรยฉ่ำที่ตูมตั้ง
ที่ซอดทั้งหลาย

บางเช้าใหม่ๆ
ฮักหอมหัวลมอว่ายอ่วย
โชยหนาวบางๆ นิ่มนวล

เขาอ้าเอิ้นโอ่ลำ...
กลายเป็นหนึ่งช่อข้าวถอก
ซอดในบ้านในเฮือนดงดอกข้าวใหม่
เล่นล้อหางลมฝนปนหัวลมหนาว

เริงร่ายส่ายไหวไกวแกว่งโลกหล้า
ผ่าเผยๆ

ทางหอม | ซอด
อัง.13.10.2563

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ถอก

ถึงขั้นนี้แล้ว
มิอาจเอ่ยคำสินะ
คล้ายความจริงกลายเป็นซากความเท็จ
ถึงขั้นจนได้

เส้นแบ่ง ที่หมายกับการเดินทาง
ระยะมือคว้า
ดั่งฝันกลางวัน
ระยะหายใจรดแก้มใสต่อริมฝีปากขณะแย้ม

เอ่ยสักถ้อยก็ได้
บอกสักวลีเถิด  หากสะกดไม่อยู่
หรือแค่โพสต์สักภาพนิ่ง
สักวรรคคอมเมนต์
หรือสักคำน้อยๆ บ่งรักเบาๆ

ข้าวเม่าอยู่ข้างหน้า
ข้าวเปลือกคำคอยเปล่งประกาย
ข้าวสุกในหวดหอมไม่ห่าง

ข้าว ผลของขีดขั้นและเส้นแบ่ง
เริ่มจากกล้า
ดินแดดลมฝนต่อเติมแต่งกอ
ทอ ดอก-ถอก ทักทาย...


ทางหอม | อา.11.10.2563

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563

รักชนิดหนึ่ง | ดวงหน้า

 







นั่นเอง ที่งอกงาม
แผ่นดินสีฝุ่น
อาบกลิ่นหญ้าฟาง
อวลอุ่นกระอายรัก...

ชนิดนั้นเอง
ปรุงแต่งตามธรรมดามี
เปิดป่องเอี้ยมสู่ท่งข้าวเดือนสิบเอ็ดออกใหม่

ชนิดนั้นล่ะ
บรรเลงเพลงพันหมื่น
ถนอมทรวงสัมพันธ์
ประหนึ่งคลอดจากอกแม่ธรณีในเวลาเดียวกัน

ชนิดงามนั่น
แผ่ผายเมล็ดพันธุ์อัศจรรย์
พร้อมเกิดก่อทุกแผ่นดิน
พร้อมยืนหยัด
อย่างหน่อใหม่ของจิตวิญญาณ
ในทางก้าวเดิน
ทุกๆ ก้าว
ทุกๆ เซลล์หัวใจ.

| ทางหอม |
08.10.2563












วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ดวงหน้า | สังฮอมสิเน่หา


เยื่อใย
พ่อแม่ลูกในท่งข้าว
ในทางไปนาสวน
ในโนนเถียงนา กองเฟียง กอข่า...
ผ่านแกลอรี่มือถือ

เยื่อใย
เพลงลำคำผญา
ระหว่างเลี้ยงควยเทิงคันแท
ขุดก่นทุบดินโพนผัก
ผ่านคลิปควมเก่าหลัง

เยื่อใย
บางเพียงเปลือกหอมแดงสดๆ
เพียงแผ่นกันขูดขีดหน้าจอมือถือรุ่นใหม่ๆ

เยื่อใย
แสงแดด สายลม เม็ดฝน ละอองฝุ่นฟาง...
โลกของชาวนาสวน
ผ่านหนังสือหนังหา
ในห้วงคะนิง
ที่ยังบ่ทันได้เขียน
ที่รอขบวนอักษรออกเดินทาง...

| ทางหอม |
จ.5.10.2563

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ดวงหน้า | สังฮอมยิ้ม

โอยนอ
ทุกข์มีปีกบินหนีไกล
ยากมีรถขับผ่านไวบ่ค้าน
เหลือใดๆ คีงคะนิงหนักหน่วงหรือบ่

โอยนอนาย
สุขสั่งผ่านแอป
ส่งถึงหน้าตักหน้าใจ
บ่ช้า บ่นาน

โอยนอนาย
เหมาะควรสมพอบ่กดทับบ่บีบจม
สั่งแอปใดส่งถึง
ช้าก็คอย นานก็รอ

โอยนาง
รหัสยิ้มไขแสงเดือนเพ็ง
ออกพรรษาลามืดหมอง
แต่งฮอยทางข้าวใหม่ ดีนอ.

| ทางหอม |
2 ตุลา 2563

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ดวงหน้า | ความจริงสมมติ















เช้าล้างหน้า
ความเก่าหลังก็พลันตื่น
ความใหม่หน้าก็แวะมาทักทาย

สายล้างหน้า
ความเร่งรัดระรื่นเย้ยกดข่ม
ความกระวนกระวายระรื่นโขกสำทับ

เที่ยงล้างหน้า
การหยิบยื่นแย้มค่อย
เหมือนยังเกรงกริ่งกลัว
การทะเลาะแปลกหน้ายืนทะมึนในเงามืดมุมตึก

เย็นล้างหน้า
การงานเงียบเสียงลง
การพักผ่อนค่อยอ่านบทกวีเบาๆ

ก่อนนอนล้างหน้า
ทุ่งข้าวขจีเขียวใกล้สิ้นพรรษาแผ่ผาย
คันแทนากวักมือเรียกเอิ้น

โอ...ดวงหน้ากาลเวลา
หายวับไปต่อหน้าหนุ่มใหญ่
ในใจกลางเวทีเมือง

| ทางหอม | 
1 ต.ค. 2563

บทเพลง คึดได้ไปเป็น l บ่าวทิ ยางชุมน้อย

ว่าด้วยที่มาของบทเพลง "คึดได้ไปเป็น" •เกิดมาน้อยเท่าใหญ่ ฟังเพลงบอกรักหรือแสดงบุญคุณแม่พ่อ ก็มีแต่เพลงแยก •มีเพลงแม่ อย่าง ค่าน้ำน...