วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

ระหว่างภู

เดินทางไกล
ระหว่างภู
เห็นต้นไม้และหมู่เมฆ

เดินทางไกล
ระหว่างภู
เห็นรถราและผู้คน

ระหว่างภู
คนตัวจ้อย
รถราคือมดแมลง

ระหว่างคน
ระหว่างรถรา
ระหว่างภู

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565

ฝากฝนใหม่มีนา

•ฝากสายลมฝนใหม่
ส่งข่าวหัวใจแพงฮัก
ส่งเสบียงปรารถนา
ฮอดผู่กักตัว...และสู้โรคภัย
อวลหอมดอกผักติ้วขาวบานมาให้
อวลหอมดินลายเปียกชุ่มมาฝาก
อวลหอมดอกม่วงพวมจ่อดอกมาต้อน
อวลหอมดอกกะยอมข้างกองเฟียงมาข่าว
อวลหอมชายคาไพหญ้าเถียงนาหมาดฝนมาสู่
อวลหอมกระอายไอข้าวนึ่งในหวดเก่าคีไฟแก่มาปลุก
อวลหอมบุญทางหน้าเฮือนพี่น้องตักบาตรมาเผื่อ

สายลมฝนเดือนมีนาเอย
ความห่างบ่อาจกั้นความห่วงใย
ความทุกข์ยากบ่อาจกลบความสุขสดใสในฮักแพง
ความลำบากลำบนบ่อาจยืนยาวท่อความคิดฮอดคึดเถิงกัน

ความเป็นอยู่ในคีงบาง
ขอให้คือเก่าตอนม่วนยินในครัวเฮือน
ภาชน์ข้าวบ้านเฮา
ยังมีแจ่วผักลวกต้ม
ยังมีเสียงเว่านัวหัวม่วน
ยังมีข่าวของพี่ของน้องของญาติมิตรสนิทกัน
ยังมีเผ็ดเค็มจางต่างกันตามเมนู
ยังมีน้ำมีต่อน
ยังมีเย็นมีอุ่นมีฮ้อน
ยังมีเพลงลำหว่อนว่อน

สายลมฝนเอย
กระซิบบอกใจผู่อยู่ไกลให่แน
ทางเมือเมืองบ้านเฮา
ทางเข้าฮ่มเฮือนเฮา
ดอกสะเลเตยังบานถ่า
ดอกข่าขมิ้นยังบานคองทาง
หวนคืนมาได้ยิ้มฮ่วมกัน
หวนคืนไปได้ฮุ่มห่อกันน้อ

สู้อย่าถอยท่อนั่น

ส่งฮักแพงมาตื่มแต้มอีกต่องอีกกะต่า
แนมฟ้าเห็นตาเว็น เดือน ดาว และดวงตาคู่นี่บ่
เห็นขี้ฝ้าเป็นสายเล่นลีลาเขียนคำความหวังกำลังใจ 
อยู่สู่ยาม นั่น อยู่น้อ.

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565

ตีนเปิ่มเมือบ้าน

 

-เรื่องสั้นโดย คีต์ คิมหันต์-

---เรื่องสั้นชนะการประกวด "ชายคาเรื่องสั้น 10" ปี 2018---

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ในบั้นมิติแห่งความสิ้นหวังอันเศร้าหม่นของแผ่นดินในทีปแทวแถวฝั่งขวาของแม่น้ำของ สี่พันดอน ที่เอิ้นกันว่าอารยประเทศวิเศษโลกานี่นั่น หลายสิ่งอันดูเหมือนจะยังฮุ่งเฮืองปานแสงทองส่องสาดท่งข้าวยามเหลืองกล้วยพวมลงเกี่ยวเป็นฟ่อนไว้มัดกำหลำซ้อม


แต่สิมีคุณค่ากระไรเล่าผู่สาว ความงามแบบบ้านแบบเมืองก่อนเก่า ใผสิยอมรับเอาเป็นสรณะสำหรับชีวิตและสังคมได้


นั่นตี๋ละ แนวคนทั้งหลายเพิ่นทยอยยอมสยบก้มกราบหน้ากากโฆษณาค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนแบบแผนทางการเมืองของใผเพิ่น ซึ่งตั้งตะหง่านหอมกลิ่นน้ำหอมที่ซ่อนเสื่องกลิ่นหื่นคาวเลือดคาวโลภ ที่ต่างคนกะต่างรับเอามันไว้เป็นแนวทางให้เจ้าของก้าวย่างเดินตามบ่เคยขาดสาย


ชัดเจนแล้วเด เพราะนั่นคือหลักประกันความสุขสบายอย่างผู้ชนะตลอดชาติ ที่บ่มีวันบิดพลิ้ว
ผู่สาวผู่ข่าเอย เรื่องที่เกี่ยวแก่ความสิ้นหวังอันเศร้าหม่นทั้งหมดนี้ กะละแม่นคำสารภาพของคนผู่ย่ำย่างอยู่ฮิมทางดินที่อยู่ขอก ๆ ถัดออกมาจากไหล่ทางของถนนหลวงสุนทรียวิพากย์ ท่อนั่น


1

ผู่ข่าก้าวขึ้นรถสายันต์อุบล-อุดร เที่ยวล่อง ที่สถานีข้างคลองสมถวิลในเมืองมหาสารคาม
อีกสามวันแล้วตี้ วันสงกรานต์จะมาฮอด ผู่ข่าคือมาบ่มีจุดหมายแท้นอ ปีนี้


เดิมทีการเดินทางกลับไปก้ำฝ่ายเมืองดงอู่เผิ่งของผู่ข่า ก็หมายมุ่งไปตามนัดของสาวอุบลคนไคปากไทกรุงเทพ คนเคยฮักกัน ว่าสิไปเล่นสาดน้ำรอบ ๆ ท่งศรีเมือง และแวไปกินกุ้งเต้นแถวหาดคูเดื่อกับเธอ แต่มันก็ต้องมีอันสูญสลายเลือนหายไป คล้ายหมอกควันเหนือท่งข้าวคราวเดือนเก้าใกล้ดับที่ค่อย ๆ มายออกจนเผยให้เห็นโฉมหน้าเด็กน้อยนักปักเบ็ดเดินย่างฮ้องแอ่วลำขอนแก่นกลอนโปรดมาตามคันแทนา …เมื่อลมหนาวพัดมาน้ำตาหลั่ง คำน้องสั่งแว่วมาน้ำตาไหล พอข่าวออกใบวีเจ้าหนีไกล ยืนร้องไห้คอยนางที่ยางซุม… แม่นแท้แหล่ว เสียงของหมอลำไก่ฟ้า ดาดวง แต่งโดย อ.สุพรรณ ชื่นชม บักหล่ายินดีกับปลาข่อโตญี่ในข้องสะพาย ตั้งใจคัก สิเอาไปฝากอีแม่ไว้ปิ้งไปถวายญาครูเอาบุญ


จดหมายลายมือของผู่สาว มาฮอดตอนต้นเดือน เป็นจดหมายบอกเลิกกัน นั่นล่ะ แม่นตัวบทที่แสดงสัมพันธบทระหว่างตัวบทความคิดอ่านกับตัวบทความเป็นครูของผู่ข่าในหลายลักษณะที่เธออ่านแล้วบอกว่ามีความหมายที่บ่อาจสิทำความเข้าใจได้ในชาตินี้ ว่าสั้นว่า โอ ชีวิตนี่มันช่างคล้ายวรรณกรรมแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเรื่อง รอท่าใผล่ะ นักอ่าน นักวิจารณ์วรรณคดีคนใดชาติใด ที่ค้นเจอและพอใจหยิบยกไปอ้างอิง อ้างถึง หรืออ่านเอาความหมายทำนอง ‘ผู่แต่งตายแล้ว’ อย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรีเหงื่อกาฬที่เสียไปของผู่ประกอบสร้าง ซึ่งมีอนาคตไปไกลได้แค่ครูแก่ ๆ ในอำเภอศอกหลีก บ่มีคุณค่าราคมราคา อย่างดี ไวไวนี้ก็อาจได้เป็นมหาบัณฑิต ป.โทนำเพิ่น หรือบ่ก็แค่มีชื่อในไตเติ้ลเพลงลูกท่งจักเพลงที่บรรจงแต่งให้ลูกศิษย์มัธยมเอาไปฮ้องเฮ็ดเพลงทำไฟล์โหลดขึ้นไว้ในยูทูป อาจแม่นเพลงในไฟล์คอมที่ถูกปริ้นไว้อ่านแก้ซึ่งวางถิ่มไว้เทิงโต๊ะในห้องพักนั่นก็เป็นได้

ฮักเจ้า ฮักหลาย สิล้มสิตายคันฮ้าง
สัญญาซุ้มดอกส้มมั่ง จ่ายเพลงผญาว่าฮักสุดใจ
บ่ายก่อนเลิกงาน มีพยานนักเรียนหญิงชาย
เจ้าเอียงแก้มให้บ่อาย ตอบฮักเต็มคำ เธอจำได้บ่

ดอกเตอร์คนใหม่ อัพไฟล์ลบรักเคยชื่น
อาจารย์หนุ่ม ม. เป็นหมื่น คึดแล้วกลืนน้ำตาจ่อหล่อ
ครูหนุ่มชุมชนนาสวนศักดิ์ศรีบ่พอ
บ่สมดอกเตอร์ดอกหนอ ต้อยต่ำส่ำตอ ป.โทระทม…

จั่งซั่น ผู่ข่าจึงขึ้นรถมาเทื่อนี่แบบ …ฟ้าเอ๊ย ฟ้าฮ้องหล่าย ไปตามลายมันสาก่อน เด้อละนาง…
ที่หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม หมอลำทางล่องทำนองอุบลผู่ยิ่งใหญ่เพิ่นว่าไว้


2

รถบัสพัดลมคันสีส้มเคลื่อนข้ามคลองสมถวิลเลี้ยวขวา กำลังจะทรงตัวกลับมาอยู่ในแนวขนานกับเส้นแบ่งช่องจราจร ผู่ข่ามองลอดช่องหน้าต่างทางซ้ายออกไป เห็นหญิงสาวใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวนวลแขนสั้น สวมกางเกงยีนส์ขาทรงกระบอกหลวมพอดี และสวมรองเท้าแตะคือกันกับผู่ข่าเลย
เธอยืนโบกรถที่หน้าร้านหนังสือดอกหญ้า รถจอดให้เธอขึ้นมาทางประตูหน้า สาวน้อยกำลังเดินมาทางผู่ข่า ใบหน้าเธอเบ่งบานปานดอกจำปาขาวทางขึ้นวัดพูเมืองจำปาสักหล่นค้างใบหญ้าอาบหมอกเช้าพู้นละ แม่นคัก เธอบ่มีที่นั่งแน่ ถ้าบ่มานั่งข้างผู่ข่านี่
“นั่งนำอ้ายได้บ่”
“นั่งข้างหน้าต่างบ่ล่ะ” ว่าแล้วผู่ข่าก็ลุกขยับให้เธอเข้าไปนั่งด้านใน
“ขอบใจหลาย” สำเนียงคือคุ้น ๆ คำ ‘ใจ’ นี่ ขึ้นเสียงสูงซันดีแท้


3

เฮาดม เว้าจา สนทนากันถึงที่มาของกันและกัน

รถประจำทางวิ่งแล่นด้วยความเร็วแต่นิ่มนวลราวยานอาวกาศที่อยู่ระหว่างโมงยามปราศจากข้าศึกสงครามในหนังไซไฟฮอลลี่วูด ทุกครั้งที่รถจอดก็จะมีคนลงตามรายทางเป็นระยะ จนถึงในเมืองร้อยเอ็ด คนที่นั่งอยู่เบาะใกล้เฮา ก็ค่อยหายไปที่ละเบาะสองเบาะ


รถมุ่งหน้าสู่ธวัชชบุรี ผู่ข่าแลซ้ายมองขวา ผู่โดยสารอยู่เบาะหน้าสี่ห้าคู่ และเบาะทางหลังอีกสามสี่คน ปล่อยตรงกลางรถให้ผู่ข่ากับผู่สาวคุยกันเพียงลำพัง


รถผ่านศูนย์ราชการมาไกลจนใกล้ถึงป่าด้านขวามือ ใช่ ผู่ข่าจำได้ นั่นค่ายลูกเสือธวัชบุรี ที่เคยนอนคลุกฝุ่นอยู่เป็นอาทิตย์ ในการฝึกภาคสนาม นศท.ปีสาม


แน่ละ ผู่ข่าได้เล่าเรื่องบางเรื่องให้สาวหน้าผากกว้าง ใบหน้าหวาน แม้สันจมูกจะไม่ตั้งสูงนัก แต่ก็พอดีพองามตามแบบฉบับสาวลาวใต้เมืองปากเซดอนโขงดอนซาด ริมฝีปากสีชมพูอวบอิ่ม ยิ้มฟันสวยแม้เล่มคู่หน้าจะใหญ่เกินหมู่ไปนิด แต่กะดูแข็งแรงดี กลิ่นเนื้อหอมเย็นอ่อน ๆ ปานกลิ่นพวงขะยอมบานดั้วข้างโพนผักบั่วเฒ่าพ่อ ผู่ข่าแอบแนมซอมสิ่งผมดำปานเสื้อไหมเหยียบย้อมหมากเกลือของย่า ดูเป็นมันขลับยาวสลวย พลิ้วเล่นลมเคลียบ่าคลอแก้มอูมนวลใส ปลายผมขี้เล่นบางจังหวะก็ขยับหยอกเสื้อผ้าฝ้าย บางลีลาคล้ายแกล้งกระเซ้าเย้าเนินเนื้อตรงอกสาวยามรถทะยานวิ่งไปข้างหน้า


ผมคงมุดอยู่ในอ้อมกอดของกระดาษปริ้นตัวบทเพลง-ลำคีตกวีนิพนธ์ทางฝั่งขวาของแม่น้ำของช่วง พ.ศ. 2525-2545 ซึ่งผมแกะเนื้อมันจากม้วนเทปและแผ่นซีดีนับร้อย ๆ มาแล้วเกินสิบวัน ในห้องหอพักแถวขามเรียง เลียบริมฝั่งชีกันทรวิชัย ทางมอใหม่ไทสารคาม บ่ได้กิน ดื่ม อาบ ขับถ่าย บ่ได้คุยได้จากับใผ ก็งานวิจารณ์กวีนิพนธ์ร่วมสมัยในรูปแบบทฤษฎี การวิจัยทางวรรณคดีหลังสมัยใหม่ ที่ผมบังเอิญสนใจทฤษฎีสัมพันธบทของโรล็องด์ บาร์ธส์ นักสัญศาสตร์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส โดยได้เชื้อไฟของการค้นคว้ามาจากหนังสือเล่มนั่นละ สัญวิทยา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์ ของไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำและผลักดันให้ใช้มันทำงานวิจัยป.โทนี้ มันนำผมมาตกไกลหลายคัก


พอตื่นขึ้นอีกเทื่อ มองผ่านหน้าต่างหอพักลงไป ก็เห็นรถ 1669 นำร่างผมไปให้หมอพิสูจน์ทราบการหยุดทำหน้าที่ของอุปกรณ์ก้อนเนื้อภายในร่างกาย โอ นี่มันปลอดโปร่งโล่งโถงคักแท้ การขึ้นสอบบทที่สี่ที่ห้า เพื่อจบการศึกษาในเวลาที่บีบหัวใจ หนึ่งเดือน จะได้ไม่ต้องเกิดขึ้น บ่ต้องให้กำเนิดเล่มวิทยานิพนธ์ที่มันอาจต้องอยู่อย่างเจี๋ยมเจี้ยม บ่ต้องพลอยอายเขิน ว่าจะทัดเทียบเทียมกับงานวิจารณ์แนวขนบทั้งการวิเคราะห์เชิงอนุรักษ์ฉันทลักษณ์และแนวนิยมเชิงสุนทรียภาพแบบแผนได้หรือไม่


ดีเหมือนกัน ปล่อยให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทเพลง-ลำคีตกวีนิพนธ์ทางฝั่งขวาของแม่น้ำของเก่าใหม่กลายเป็นความลึกลับอีกต่อไป ไม่ต้องได้ยินกรรมการสอบบางท่านสรุปความเห็นเป็นทำนองแบบตอนสอบเค้าโครงสามบทแรก


“อาจารย์ขอชื่นชมคุณนะ นี่เป็นเรื่องที่อาจารย์ก็เพิ่งได้เรียนรู้…”
นี่ท่านอาจารย์เพิ่นชื่นชมผมจริง ๆ แม่นบ่นอ หรือแค่ส่งสัญญะอันหนึ่งอันใดให้ผู้อพยพทางแนวคิดทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมไว้พิจารณาเจ้าของเล่าหนอ


4

ผู่ข่าเคยมาฝึกรด.หม่องนี่เด ได้เป็นหัวหน้าหมู่ในกองร้อยสี่ จำได้ดี คืนนั้นเป็นคืนแรก ลมหนาวเดือนสิบสองพัดต้นไม้ดังอื้ออึง ในค่ายลูกเสือที่ถูกเรียกในห้วงนั้นว่า ค่ายฝึกภาคสนาม นศท. ปีสาม สมาชิกค่ายคือนศท.ที่ขึ้นตรงต่อจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด ผลัดนั้นมีนศท.จากโรงเรียนในจังหวัดยโสธรกับร้อยเอ็ด รวมกันสักสิบหรือสิบเอ็ดโรงเรียนนี่ละ


มื้อรายงานตัวเข้าฝึก หลังเสร็จกิจกรรมภาคค่ำแล้ว นศท.ก็ถูกปล่อยไปยังค่ายพักตาม กองร้อย ผู่ข่ากับหมู่อยู่ร้อยสี่ ไปถึงที่พัก หัวหน้าหมู่ก็ต่างจัดเวรยามเฝ้าค่าย ซึ่งกะคือเรือนสำนักงานบ้านไม้ทรงไทยมีจั่วชั้นเดียวขนาดย่อมสี่หลัง ผู่ข่าในฐานะหัวหน้าหมู่ที่สี่ ที่สมาชิกเป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกัน จัดให้นศท.รุ่ง เพื่อนคนร่างใหญ่ผิวเข้มฟันขาวหน้าตา ดูคลับคล้ายบัวขาว บัญชาเมฆ เป็นเวรยามผลัดแรกอยู่ช่วงสามถึงสี่ทุ่ม เราจะผลัดเวรกันทุกชั่วโมง


ลมหนาวพัดหน่วงหนัก เสียงนศท.ทุกกองร้อยเงียบลงได้พักใหญ่ เสียงแมลงกลางคืนก็หลบให้เสียงลมบรรเลงเพลงสดหนาวกระชากใจแต่เพียงลำพัง ความวังเวง ชวนให้คิดถึงที่นอนที่บ้าน


ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกลมาค่ายกว่าร้อยกิโลเมตร จากอำเภอค้อวังเมืองริมฝั่งซีตอนใต้ขึ้นเหนือข้ามซีเทื่อแรกจากฝั่งขวามาฝั่งซ้ายที่เมืองมหาชนะซัย แล้วจึงข้ามซีคืนมาฝั่งขวาอีกเทื่ออยู่แถวท่าสะแบง เมืองเสลภูมิ ทำให้รุ่งผู่ยืนเวรหน้าที่พักในท่าตามระเบียบพักต้องทรุดลงนั่งพิงเสาเรือนพัก ไม่ถึงอึดใจที่นั่งลง เพื่อนก็หลับเซือบไป ไม่นานก็ได้ยินเสียงสวบ ๆ และเสียงคุยกันของคนเดินผ่านป่ามืดดำมายังที่พักของหมู่ผู่ข่า แน่เลยหนึ่งในเสียงนั่นคือครูผู้กำกับนศท.โรงเรียนของเฮานั่นเอง


“หลับเวรเหรอ ทหาร! แถวตรง!” ครูอำนาจสั่ง ในมือกำปืนเอ็มสิบหก กดปลายปืนลงพื้นทางหน้าขาซ้าย ทหารอีกนายที่เป็นครูฝึกประจำกองร้อยยืนข้าง ๆ กัน ยิ้มพอใจ ฟังจากน้ำเสียงแล้วแสดงว่าแอลกอฮอล์ไหลลงท้องคนทั้งคู่มาเกินขนาดที่ร่างกายจะควบคุมสติได้อย่างปกติ จึงย้อมใจให้เกิดความสนุกสนานในการใช้อำนาจ สมชื่อ


“ไปมุดน้ำในถัง ปฏิบัติ” เพื่อนของเราวางปืน วิ่งไปยังตีนป่าเยื้องๆ กับที่พัก ที่ที่มีถังน้ำอาบอยู่ห้าใบ เป็นถังสังกะสีที่เคยใช้บรรจุน้ำมันมาก่อน เขาเอายางมะตอยทาเคลือบด้านในสำหรับใส่น้ำอาบ


“ลงไป ไวเข้า” ลมหนาวเหน็บเนื้อ เพื่อนเราหันมองหน้าคนสั่งเหมือนขอความเห็นใจ


“ไม่ต้องมอง ลงไป!” ผู่ข่ามองผ่านปลายเท้าตัวเองออกไปยังประตูบ้านพักที่เปิดอ้าอยู่ เห็นเพื่อนผู่โชคร้ายของเราค่อยๆ ปีนและหย่อนตัวลงถังขี้โล่ที่มีน้ำเย็น ๆ รออยู่


“ดีๆ มุดน้ำลงไป… นั่นแหละ ๆ ขึ้นมา ไปยืนเวรที่เดิม” เพื่อนรุ่งวิ่งมาถือปืนด้ามไม้สมัยสงครามโลก ยืนทะมัดทะแมงตัวแข็งทื่อในท่าตามระเบียบพัก แต่ส่วนปากคางขากรรไกรสั่นรัว


“ห้ามหลับเวรอีกเป็นอันขาด” สิ้นคำสั่ง ทั้งคู่ก็เดินคุยกันหายเข้าไปในฉากป่ามืดดำ มีเพียงเสียงหัวเราะพอใจแทรกดังย้อนออกมาตามจังหวะกระแสลมหนาวกรรโชกป่าไพร
พอครูไปแล้ว เวรผลัดต่อไปก็ลุกไปเปลี่ยนเพื่อนรุ่งอย่างเร่งรีบ ไม่ต้องให้เตือนกัน
เจ้าฟังอยู่บ่ ผู่สาว
พอครูไปได้เดี๋ยวเดียว เพื่อนรุ่งก็เริ่มร้องไห้โฮ เฮาลุกขึ้นมาปลอบ


“ผู่ข่าสิเมือบ้าน ๆ” ลูกผู้ชายร้องไห้ขี้มูกโป่งไม่อายเพื่อนอายใคร เนื้อตัวทั้งชุดฝึกเปียกปอน สั่นเทา ผู่ข่าต้องเอาผ้าห่มมาตุ้มเพื่อนไว้


“อยู่ก่อน ๆ ไว้แจ้งแล้วค่อยว่ากันน้อ”


เวลาคืนนั้นขยับตัวผ่านไปไวบ้างช้าบ้าง ตามแต่ความคิดอ่านของนศท.แต่ละคน แต่ส่วนใหญ่คงว่ามันไวหลาย นอนยังบ่อิ่มจ้อย มาแจ้งไวตายแท้


แล้วเสียงนกหวีดครูฝึกก็ดังแทรกความมืดและเงียบหนาวของตีห้า ทุกคนจัดแจงแต่งตัวรวดเร็ว วิ่งจั้นไปเข้าแถวรวมพล

เช้านั้นเราวิ่งออกกำลังกันจนตาเว็นขึ้นเหนือทิวไม้ เสื้อผ้าชุดคาคีงเพื่อนรุ่งเริ่มหมาด พอยามสาย ๆ มาก็แห้งสนิท เฮาอยู่ค่ายด้วยกันครบทุกนายจนจบห้วงฝึก


5

“ฟังเบิ่งคือเป็นตาลำบากคักน้ออ้าย”
“ต่างคนต่างบ่อยากคัดทหาร ทนเอา”
“เป็นทหารนักเฮียน เพื่อบ่อยากไปเป็นทหารในกองทัพซั่นตี้”
“ก็จบรด.ปีสามแล้ว ถูกปลดเป็นทหารกองหนุนเลยไง พอเรียนจบปริญญาตรีไปทำงานไส ซำบาย บ่ต้องหลบต่าวกลับไปถูกทางการเกณฑ์ไปเป็นทหารอีก”
“ดีอยู่นอ”
“ดียุ ๆ”


ขบวนผู่อพยพจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หนีการไล่ล่าของฝ่ายเวียงจันทร์ เลาะเลียบฝั่งลำซีลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงบ้านแดงหม้อใกล้บ้านกุดกะเสียน เมืองเขืองใน พระวอพระตาให้หยุดทัพพักเซาเอาเหงื่อเอาแฮง หุงหาอาหารกินกัน เวลานั่นเหมือนว่าสิได้ยินเพลงกวีพื้นถิ่นในอีกสามสี่ร้อยปีต่อมา เป็นเสียงของสนธิ สมมาตร ลูกหลานบ้านแดงหม้อ บรรเลงขับกล่อมญาติพี่น้องผู้อพยพหนีภัยสงครามดังแว่ววอน


…ดอกจานบานสะพรั่งกลีบโรย ดังแส้โบยหัวใจของพี่ให้แหลกเป็นผง เหม่อมองแม่โขง สายน้ำลิ่วลอยถอยลง…


นั่นล่ะ บทประพันธ์ของคีตกวีลุ่มน้ำของขนานแท้ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทะรุกขา ต่อด้วยเพลง


…ผมจรรอนแรมจากลุ่มน้ำมูน ทิ้งถิ่นดอกคูนเพราะความรู้น้อยต่ำต้อยเพียงดิน…


นั่นสิ บทประพันธ์ของครูสุรินทร์ ภาคสิริ-ทิดโส สุดสะแนน


พักค้างแฮมคืนหนึ่งแล้ว ชาวลาวผู้อพยพหมู่หนึ่งจึงขอแยกตัวข้ามฝั่งซีหน้าแล้ง ฝ่าป่าดงใหญ่หนาทึบ ฝ่าป่าหนองหิ้งเมืองของงูจงอางเจ้าที่ ผ่านหนองยาง ลงมาตามทางที่ดวงตาเว็นเคลื่อนคล้อยลง มากันจนเมื่อยล้า จนตาเว็นใกล้ลับทิวไผ่ทิวยางนา ก็ถึงโพนที่มีซากกู่ของขอมเขมรโบราณอยู่ในดงยางดงเขวา จากโพนหันหน้าไปทางพายัพเห็นมีบึงบัวขนาดใหญ่อยู่บ่ไกล ที่นี่เป็นที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานที่อยู่ใหม่โดยแท้


…นั่นแน่ะ แม่นล่ะ บรรพชนคนยางซุม…
ผู่ข่าฝันอีกแล้ว… ฝันประหลาดแท้เด


6

อีกเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว เจ้าอยากได้ยินบ่ล่ะ ผู่ข่าถามสาวข้างกาย ดูเธอจะชอบฟังเรื่องเล่า เรื่องของปู่ซม ปู่ของผู่ข่า ผู่ข่าเล่าให้สาวหุ่นโก้ เอวคอด อกและก้นใหญ่ ร่างสมส่วนส่ำนักวอลเล่ย์บอลมือตบทีมชาติจีน ผู่ข่าเล่าให้เธอฟังว่า


ปู่ซมนำขบวนเกวียนเทียมงัว อันมีสินค้าของอยู่กิน ผักบั่วหัวกระทียมพร้อมมาขั่วบ้านแลกเปลี่ยนสินค้าหากำไร มาถึงบ้านธวัช นอนค้างคืนในวัดและไหลตาย ไทบ้านใจดีเผาปู่เก็บดูกไว้ ในห่อผ้าเกือบเดือน ข่าวจึงถูกคนเดินทางคาบผ่านข้ามลำน้ำซีที่เมืองฟ้าแดดสูงยางมหาชนะซัยผ่านดงยางบ้านหัวดอน ตรงไปตามทางเข้าบ้านตากแดด บ้านน้ำอ้อม บ้านผีผ่วน เข้าบ้านค้อ บ้านดงมะหรี่ ทะลุผ่าดงลิงบ้านฟ้าห่วน โค้งตามทางลงใต้ ข่วมขัวห้วยพระบาง ผ่านบ้านโพนเมือง บ้านแข่ จนถึงเขตบ้านยางซุม


ข่าวเศร้ามาถึง ลุงซื่นกับพ่อซินจึงได้เขียวค่ำเขียวคืนเดินเท้าไปเอาดูกพ่อปู่ซมกลับเมือเฮ็ดบุญหา สายฝนเดือนเจ็ดเพ็งกับน้ำตาลูกซายไหลปนกันอาบทางเกวียนดินทราย เป็นวันเศร้าที่แสนรื่นรมย์จั่งใด๋กะบ่ฮู้ได้


7

ใกล้ฮอดเมืองเสลภูมิแล้ว ยินเสียงลำเพลินสำนวนกลอนอาจารย์ประกิต อุ่นทรวง แต่งให้รุ่งโรจน์ เพชรธงชัยเป็นผู่ลำโญ่นใส่จังหวะกาเต้นก้อน เสียงขึ้นลงสุดส่าว ม๋วนม่วน ดังมาจากลำโพงรถ เหมือนคนรถหรือโชว์เฟอร์จะรู้ใจผู่ข่า ดนตรีมิกซ์หน้าตู้ ทุกชิ้นเล่นสดในห้องอัด ออร์แกน พิณไฟฟ้า และแซคโซโฟน สลับกันเป็นตัวนำ มีกลองชุด กลองทอม ฉิ่ง ฉาบ และเบสทุ้ม ตึ่มตึมตึม ตึมตึ่ม เป็นฉากหลัง


…โอยเดนาง เสียงลอยลมมาแต่โมงเกินร้อย หัวใจคนคอยเดี๋ยวนี่หดหู่ คึดถึงแต่ซู้พี่อุดอู้บ่
หาย…


นั่น ๆ ห่าวหันแท้ เจ้ามักบ่ ลำเพลินแบบนี่
ผู่สาวยิ้มแทนคำตอบ ผู่ข่าหลับตาฟังลำ แล้วหลับไป


8

“อ้ายๆ ฮอดเมืองดงอู่เผิ่งแล้วเด” รู้สึกมีมือสาก ๆ ของผู่สาวจับแขนผู่ข่า เขย่าเบา ๆ


“น้องสิต่อรถปากเซเมือบ้านแม่นบ่” ผู่ข่างัวเงียถาม


“แม่นแล้วอ้าย”


“ให้อ้ายเมือนำได้บ่เด”


“มาติอ้าย เมือบ้านเฮา แม่น้ำของสี่พันดอน”


A

ผมกับผู่ข่าคงตายแล้วนอ ผู่สาวที่คุยนำ แค่เคยเห็นขึ้นรถบัสคันหนึ่งข้างคลองสมถวิลแห่งเมืองตักศิลา และเธอก็ไปลงที่ธวัชบุรีในมื้อนั่น


มามื้อนี่ เธอมาขึ้นรถและย่างนำหน้า ทางดินขี้ตมเละบนดอนซาด กลางมหานทีสี่พันดอนนี่ได้จั่งใด๋

โตผมกับโตผู่ข่าหรือเธอตายก่อนกัน
ผมไม่กลัวเธอ เธอไม่กลัวผมและผู่ข่า
เฮาตายแล้ว! ซั่นบ้อ?
เฮากำลังกลับเมือบ้านหรือ?


ผู่ข่ากับผมเป็นใครกัน เป็นนักศึกษา เป็นพลเรือน เป็นหลานซายปู่ซม-นายฮ้อยงัว
เป็นลูกเป็นหลานผู้อพยพอยู่ไหม?


เอ…นี่สองฝั่งทางดิน ซุมพี่น้องเฮากำลังไถนา ลกกล้า ดำนา โอ นั่น บักหำน้อยป๋าโต ยิ้มใสอยู่ข้างคันแท กำลังเล่นน้ำนาที่ทอสีเงินแผ่ผืนกว้างไกล ปานฮูปแต้มสีน้ำมันของศิลปินหนุ่มเมืองหอมแดง งามแท้เด
ตีนเปิ่มผู่ข่า ย่ำย่างทางดินขี้ตมปนขี้ควย ตามก้นผู่สาวที่ขยับอยู่เบื้องหน้า


เธอค่อยๆ ห่างออกไป ห่างออกไป ทรวดทรงลีลาผู่เพิ่นสะพายเป้หลังนั่นงามปานช้าง งาก่วยกวยหาง
เสียงกบเขียดดังม่วนนวลหู ตาเว็นดวงส้มกลมใหญ่ใกล้สิลับทิวพร้าวทิวไผ่ สองเฮาเดินสวน
รถไถสกายแล็บของนักท่องเที่ยวชุดสุดท้ายของวัน แม่นแล้วล่ะ ผู่ข่าตามก้นผู่สาวมุ่งหน้าไปทางหลี่ผี
เฮือนไม้สักหลัง ฮิมน้ำใกล้ขัวสะพานที่ทหารฝรั่งเศสสร้างเอาไว้ในดงพร้าวเบื้องหน้า…


(ส. 22 ก.ค. 2560)




วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565

ข้าฟังเพลงหนึ่ง

 ข้าฟังเพลงหนึ่ง

เฮียรฮู้สิ่งหนึ่ง
ที่บ่เคยเรียน

ข้าฟังเพลงนั่น
ฮู้หนึ่งเป็นสิบเป็นบ้านเป็นเมือง
ที่บ่เคยรู้

ข้าฟังมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เป็นทุกข์สีดอกสะเลเตบาน
ที่บ่เคยเป็น

ข้าฟังมันซ้ำอีก
เป็นสุกสีดอกมันปาบานกุ้มทีป
ที่บ่เคยซึ้ง

ข้าตายตาหลับ
ในโลกทัศน์นอกเพลงนั่น
ที่จองจำข้าช้านาน.

ในดอก บอกข่าว #1

 ล่ะย่างคิมหันต์หันฟ้าว

หนาวในทรวงสุดที่อ่าว
ฮ้อนในอกปวดร้าวเหลือโอ้โอ่ล่ะเด
คือเสาเซเถียงนาเศร้า
เหงาตอเฟียงอาบขี้ฝุ่น
ลมหัวกุดพัดวุ่นละเวินบั้นท่งสถาน

บนบาน ใดใด ให้หายส่วง
ให้หาย โศกสลดปวง กับข่าวสาร
ปล้นจี้ ระเบิดใจ รักกันดาร
ประหัตประหาร ลั่นลูกปืน ขมขื่นคาว

ใผเดนอ หนาวในแล้ง
ใผเดแพง แล้งบ่หวั่น
แพงฮักหอม ดอมแต่งชั้น
สวรรค์แท้ แผ่อุ่นคีง
เดละนอ……
เดคำเอ้ย…

ผู้โชคดี

-เรื่องสั้นโดย คีต์ คิมหันต์-


 22 ธันวา

ถึง คุณ ณ อีกหน้าจอ

ความจงใจใดเล่า จะทำให้อึดอัดขัดเคืองได้มากกว่า การสารภาพรัก แม้มันจะดูน่ารังเกียจเมื่อทำมันลงไปผ่านโลกเสมือน แต่ใจก็มิวายกังวลว่า สมควรไหม

จริงอยู่เราส่งข้อความสนทนากันมายาวนานกว่าสิบแปดปีแล้ว แม้ไม่ใช่การสื่อสารแบบทางเดียวเสียทีเดียว เพราะคุณก็โต้ตอบมาบ้าง เป็นข้อความง่ายๆ แต่สุภาพ จนผมประทับใจ บางคำบางวลี หรือกระทั่งบางประโยค ถึงขั้นอิ่มเอม ซาบซึ้ง ถึงขั้นเก็บมานอนฝัน หรือส่วนใหญ่คุณอาจแค่ส่งสติ๊กเกอร์รูปมือชูนิ้วโป้งมาให้แทนการตอบด้วยขบวนอักษร กระนั้นผมก็คิดในทางบวกเสมอ

วันนี้แค่นี้ก่อนนะครับ ผมต้องเตรียมกระเป๋าออกเดินทางก่อน ไปที่ทุ่งแห่งนั้น ที่ผมเคยเขียนเล่าว่า ผมอาจเลือกเป็นที่ตาย

ปล. ฝุ่นเยอะมากนะ ในเมืองของเรา ดูแลสุขภาพนะครับ

------

11 มกรา

ถึงคุณ ที่ความคิดถึงยังคึดฮอดตลอดเรื่อยมา

ผมตั้งใจ ไม่กวนคุณด้วยข้อความบันทึกมาเป็นยี่สิบวันแล้ว ส่งแค่ภาพถ่ายใบส้มแบงหลากลีลาบวกอักษรโตธัมม์และคำไทย มาให้ทุกเช้า

หากคุณเผอิญนำมาลำดับเข้า คิดตั้งเป็นชื่อบทนวนิวยายสักเรื่อง แล้วลองลงมือเขียนอย่างที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้ เราก็น่าจะได้นวนิยายเล่มงาม ไว้บอกกล่าวแก่คนที่จะมาอ่านมัน ว่ามันจะอยู่คู่โลกใบนี้ไปอีกนานแสนนาน

ผมตัดสินใจอยู่และสร้างงานที่นี่นะ หากคุณอยากแวะมาบ้าง ผละจากเมืองฝุ่นละออง หนีจากองค์การอันทรงเกียรติ พักการงานอันช่วยพยุงอุ้มชูสังคมของคุณ มาอยู่ชื่นชมธรรมชาติบ้านทุ่ง ดงหญ้าป่าละเมาะพื้นเมืองและสวนป่าดอกไม้ยืนต้นประจำถิ่น สักสัปดาห์บ้าง ก็คงนับเป็นโชคดีของผมมิใช่น้อย

(ก็คุณเขียนเล่าไว้ในสเตัสส่วนตัวนี่ ว่าคุณเป็นคนรักธรรมชาติและรักคนอยู่คนรักษาธรรมชาติ)

โอ ถึงเวลาชมดอกกะยอมแล้วเด

----------

11 กุมภา

ถึงคุณ คนงามสะพรั่งกลางใจดั่งพั้วดอกขะยอมหอมเช้าหมอกขัวนัว

ยินดีและขอบคุณหลายที่แจ้งให้ฮู้ผ่านคลิปอ่านบทกวีในยูทูป "ลาวเว่าว่า ชาแนล" ทำให้ข่อยเพิ่งมั่นใจว่าเจ้าบ่ขะลำแถมยกยอภาษาอีพ่ออีแม่เฮาอีกนำ

ต่อเรื่องพี่ชายเจ้าของสวนป่าขะยอม จาน ส้มแบง และเสลา กันนะ

เขาเคยเป็นมาหลายอย่าง ก่อนจะมาทำสวนป่าแห่งอนาคตอันรื่รมย์ของข่อย โดยขณะลาวลงมือลงแรงปลูกเสริมต้นไม้สี่สายพันธุ์นี้ ให้เป็นแถวเป็นแนว แทนที่การปลูกยางพาราไร้ราคาค่างวดที่ปลูกแทนข้าวนาปีในที่โคกดอนมาอีกทอดหนึ่ง

ที่แห่งนี้เคยเป็นมรดกของครอบครัวเฮา แต่เพราะอ้ายเพิ่นมักเดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพ พบปะเพื่อนใหม่ๆ ไปทุกภาคของประเทศ เพื่อนสมัยป.ตรี ที่รามคำแหง ก็ช่างชวน และเลี้ยงดูปูเสื่อเอื้อเฟื้อดีนักแล ทริปหลายสิบทริปไปประเทศในอุษาคเนย์และเอเชียก็เกิดขึ้น เพิ่นได้ไป ได้ถ่ายภาพ ได้ขายภาพ 

พักหลังคลั่งไคล้ถ่ายภาพดอกไม้ประจำถิ่น ถึงขนาดขอเพื่อนเจ้าของต้นขะยอมในที่ข้างๆ กันนี้ ทำบ้านต้นไม้แบบง่ายๆ กินนอนอยู่ในนั่นกับกล้องถ่ายรูปดิจิตอลตัวหนึ่งเป็นอาทิตย์ ตั้งแต่ดอกขะยอมเริ่มจ่อดอกจูมจีจนมันร่วงหล่นดินหมดต้น จึงลงมา

รูปชุดนั้นเอง ที่เพิ่นฝากขายในเว็บ ได้รับค่าตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ จนสามารถซื้อที่ดินผืนนี้คืนจากลุงที่ป่วยเป็นมะเร็งตรงข้อมือ ตัดแล้ว ทำคีโมแล้ว ก็ไม่หาย เงินที่พี่ชายข่อยจ่ายซื้อที่สิบหกไร่ตรงนี้ แม้จะมากถึงเจ็ดหลัก (ทั้งที่นาโคกไกลถนนหลวง-แพงคักแน สมัยเงินบ่มีราคา) ก็ไม่อาจใช้รักษายื้อชีวิตลุงได้

จากนั้นอ้ายเพิ่นกะตัดขายไม้ยางพารา จ้างรถไถมาปรับที่เป็นสามล็อค ตามความยาว ถ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ แถวติดแดนซ้ายสุดกะล่ะแม่นกกจาน ถัดมากะแม่นขะยอม ส้มแบง และเสลาเรียงแถวยุขวามือสุด

พันธุ์ไม้นี่เพิ่นได้มาจากการลงมือเพาะเอง ปลูกไปนำ เพาะไปนำ โดยเดินคอนกะต่าหาเก็บนำต้นแม่ตามงานนาท่ง นาโคกของพี่น้องอ้อมหมู่บ้าน

ใช้เวลาอยู่เป็นสิบปีกว่าสิได้แถวกกไม้ครบทุกต้นตามประสงค์ ที่เพิ่นตั้งใจปลูกให้ห่างกันต้นละซาวเมตร

ใผมาเห็นตอนนั่นกะล่ะแม่นว่าเพิ่นเป็นบ้า ชาวบ้านเขาเฮ็เนาปลูกเข้า ปลูกหอม พริก ฟักแฟง แต่งเต้า หรือบ่กะยางพารา มันสำปะหลัง นี่อีหยัง ปลูกกกไม้ ที่มันกะมียุแล้ว ปลูกทำไม บ้าไปแล้ว

แต่มาถึงตอนนี้ เกือบสามสิบปีเต็ม ทุกต้นใหญ่สูงเป็นหนุ่มสาวทรงพุ่มแผ่กว้าง ถึงฤดูก็เริ่มแต่งต้นด้วยดอกงามตามสายพันธุ์พ่อแม่

ข่อยโชคดีที่สุด ได้มาชื่นชมผลงานบทกวีต้นไม้ให้ดอกตามฤดูกาล ที่ผู้สร้างสรรค์ปั้นแปงตายจากไป ก่อนจะได้ชมดอกดั้วพวงก่องงามทั้งหลายนี่

ไว้คุยกันต่อเดอครับ ไปถ่ายฮูปดอกเสลาม่วงเทางามก่อน บ่ายคล้อยแดดงามแสงงามเดี๋ยวจะพลาด เดี๋ยวผมส่งคลิปดอกเสลาเคล้าสายลมมาให้นะ

คึดฮอดกันน้อครับ ดีหลายๆ

----------

14 กุมภา

หญิงสาวนั่งรถสองแถวประจำทาง ที่เคลื่อนออกจากตัวจังหวัด มุ่งไปสู่สวนป่าเบญจพันธุ์ เธอชั่งใจอยู่นาน ระหว่างเรื่องราวพิลึกของพี่ชายที่ตายไปของเขา ตัวเขา และสวนป่าดอกไม้ประจำถิ่น หรือบันทึกในกล่องข้อความกันแน่ ที่ทำให้เธอลาออกจากงาน เพื่อหนีเมืองฝุ่นฝ้าล้าอ่อน ไปยังที่ๆไม่เคยไป ไปหาคนที่เหมือนคุ้นเคยแต่ไม่เคยอยู่สองต่อสองเกินสองนาที

แน่นอนทีเดียว ตามที่เขาบอก ต้นไม้ทุกต้นดอกวายก่อนหน้านานกว่าสองสัปดาห์แล้ว แต่ความงามของรูปร่างลำต้นและใบเขียวใหม่ ที่ยืนอวดทรวดทรงปานแถวนางงามจักรวาลก็ยังชวนชม ชวนหลงใหล

เธอหวังว่า การตัดสินใจครั้งนี้ อย่างน้อยก็คงไม่เลวร้ายถึงขั้นป่วยหนัก หรือทำให้บาดเจ็บล้มตาย อย่างน้อยก็คงได้เห็นสวนป่าตัวเป็นที่เคยฝันเห็นตลอดห้าปีมานี้.






นักเรียนมัธยมกับการอ่าน...วันนี้?

 หนังสือเล่ม คือความเป็นอื่น?

จะว่าไป การที่นักเรียนมัธยมปัจจุบันส่วนใหญ่ (ร้อยละเกินแปดสิบ...) ที่ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสจากการสอนวิชาเกี่ยวแก่วรรณกรรม ไม่สนใจอ่านหนังสือเล่ม ทั้งหนังสือเรียน และหนังสืออ่านเล่น ไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม การ์ตูน นิยาย นิยายแปล... ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนัก

| โปรดทราบ บทความนี้ มีได้ขยายขอบเขตการอ่านไปถึงการดู ฟัง อ่าน ในโลกออนไลน์ นะครับ |

เพราะเมื่อผู้เขียนหันมามองตนเอง แม้จะรักชอบการอ่านมายาวนาน ตั้งแต่จำได้ว่าเคยขโมยหนังสือพี่สาวลูกป้ามาอ่าน ราวตอนเรียนชั้น ป.4 -5 ตกถึงวันนี้ นับได้ สามสิบกว่าปีแล้ว ก็ไม่มีเวลาอ่านมากมายนัก ต้องหลบมุม หลีกวิถีครอบครัว ชุมชน สังคมออกไป กว่าจะได้อ่านหนังสือเต็มคราบเต็มที่ตามใจปรารถนาสักเล่ม...สักครั้ง...

ลอองอุบล 3 | ยุววรรณกรนารีนุกูล อุบลราชธานี และ ฝนฝัน ซีซั่น 4 | ยุวประพันธกร ศ.ก.ว. ศรีสะเกษ

ลองพิจารณาดู ก็เพราะสังคมเรา (อีสานใต้ ศรีสะเกษ-อุบลฯ | ที่อื่นๆ มิอาจรู้ได้) ไม่ใช่สังคมที่ให้คุณค่ากับการอ่านและคนอ่านหนังสือ แม้ว่าผู้ปกครองนักเรียนทั้งหลาย ปากจะพูดว่า อยากให้ลูกอ่านหนังสือ อยากให้ลูกเป็นนักเรียนที่รักการอ่าน แต่พฤติกรรมการส่งเสริม เช่น ซื้อหนังสือให้ลูก พาลูกเข้าร้านหนังสือ เข้าห้องสมุด... ก็มีกันน้อยเต็มที การจัดสรรเวลา มุมน้อยๆ ในบ้านในครอบครัวให้ลูกรักอ่านหนังสือ ก็มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจจะลักษณะ เป็นการเป็นงาน..

สังคมในรั้วโรงเรียนก็เช่นกัน กลุ่มสาระฯภาษาไทยก็ดี งานห้องสมุดโรงเรียนก็ดี ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง ก็ไม่สามารถออกแรงอะไรได้มาก ในเรื่องการกระตุ้นส่งเสริม ในรูปกิจกรรมหรือโครงการใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้อาจเพราะหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. ก็มิได้ปักธงรบจริงจังในเรื่องนี้ แม้จะมีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้มาบ้าง แต่ก็เป็นแค่หนังสือสั่งการ หามีเม็ดเงินหรือหนังสือดีๆ หรือทีมงานวิทยากร... ส่งแนบมาสำหรับจัดกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านถึงตัวเด็กนักเรียนไม่

กล่าวโดยรวมๆ ก็เป็นอันว่า สังคมเราจัดการส่งเสริมการอ่าน แค่ วาทกรรมเท่ๆ เท่านั้น

นี่มิรวมถึง พฤติกรรมของผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ลุงป้าน้าอา พี่ๆ ทั้งหลาย ที่หาตัวจับยากเย็นเต็มที ว่าเป็นนักอ่าน หรือเอาแค่คนสนใจแบ่งเวลาอ่านหนังสือเล่ม พอเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานในเรื่องนี้

นั่นแสดงว่า หนังสือเล่มคือความเป็นอื่นในสังคมเราไหม? 

ผู้ใหญ่ทั้งหลายหรือคนมีการศึกษาที่พอจะเข้าใจ หรือมองเห็นประโยชน์และคุณค่าของการอ่านอย่างจริงจัง แบบว่า เป็นนักอ่านตัวยง จัดบรรยากาศบ้านเรือน เช่น มีหนังสือ มีมุมหนังสือที่น่านั่งอ่าน นอนอ่าน จัดสรรเวลาครอบครัวให้เอื้อต่อการอ่านของสมาชิกในบ้าน จัดกิจกรรมพาไปห้องสมุด... ไปงานเสวนา ไปร้านหนังสือ ไปงานมหกรรมกรรมขายหนังสือ... มีไหม? ถ้ามี มีกี่คนในหนึ่งตำบล หนึ่งอำเภอ และหนึ่งจังหวัด และถ้ามี มีเพราะได้รับโอกาสการปลูกฝังจากครอบครัว แบบรุ่นสู่รุ่น หรือ จากระบบโรงเรียนแบบปีต่อปี ชั่นต่อชั้น หรือ มีเพราะด้วยใจรักอย่างโดดเดี่ยว โดดเดี่ยว เป็นอื่นจากสังคม อย่างน่าสงสาร อย่างน่าสมเพชเวทนา???

อ่านเล่นเติมความสุข อ่านเสริมเติมความงามในชีวิต อ่านกันไหม?

ที่กล่าวมา หากหนังสือยังไม่เป็นอื่นในสังคมเราเสียทีเดียว สาเหตุอาจไม่ใช่แค่ฝั่งผู้อ่านอย่างเดียวใช่ไหม? ที่ไม่อ่าน ไม่แสวงหา แต่อาจเป็นด้วยระบบการส่งเสริมการอ่านของสังคมเราที่อ่อนแอเกิน? หรือกระทั่งอาจเป็นเพราะระบบหนังสือของบ้านเรายังไม่ดีพอ? ไม่มีห้องสมุดดีๆ มากพอ ไม่มีร้านหนังสือดีๆ มากพอ ไม่มีหนังสือดีๆ มากพอ ไม่มีนักเขียนดีๆ มากพอ พอจะดึงดูด โน้มใจคนให้อยากหยิบหนังสือสักเล่มสองเล่ม...ขึ้นมาอ่านกัน

อย่างไรก็ดี สาเหตุหนึ่ง อาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของสังคมบ้านเราก็เป็นได้ สำนึกที่ว่า คนอ่านหรือการอ่านจะต้องเพื่อความดีเลิศประเสริฐศรี มีชั้น มีคลาส มีระดับ ต้องปีนบันไดขึ้นหา อย่างบัณฑิต มกาบัณฑิต ดอกเตอร์ทั้งหลาย หรือต้องอ่านเพื่อเก่ง เพื่อฉลาด เพื่อเจริญทางวิชาการ การงานอาชีพ... พวกนั้นไงเล่าจึงจะสมควรเสียเวลานั่งอ่านคราบหมึกถ่ายทอดตัวหนังสือติดแน่นบนหน้ากระดาษ... หรือไม่?

แล้วการอ่านเพื่อความบันเทิง เติมความสุขสรรค์หรรษา เติมมุมมองชีวิตที่หลากหลาย เติมทัศนคติการมองโลกที่ลึกซึ้ง หรือที่เรียกว่าเติม "สุนทรียภาพ" /ความงามให้แก่ชีวิตเล่า มีตัวตนอยู่ในสังคมเราบ้างหรือเปล่า?

ความบันเทิง ความสุข ความงามที่ว่านี้ มันอาจแตกต่างจากการดูคลิป ดูหนัง ดูละคร ดูข่าว ฟังเพลง ดูการเลื่อนข้อความ ดูโพสต์ ดูสติ๊กเกอร์...ในมือถือ อย่างที่เราสมควรจะเพิ่มทางเลือกให้ชีวิตเราบ้าง ดีไหม?

คำถามนี้ ผู้เขียนถามตัวเองมานาน และมีคำตอบชัดเจนแล้ว ...ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเห็น หรือตอบคำถามตนเองอย่างไรบ้างหนอ

-----------------------------------------

| ผู้เขียน : ธีรยุทธ บุษบงค์ | ครูสอนภาษาและวรรณกรรม. นารีนุกูล, อุบลราชธานี. |



งานสบตาความจริง

สังเกตตนเองว่า ยังตามทันความคิด แม้ไม่ถึงขั้นคิดปั๊บรู้ปั๊บ แต่ก็พอจะรู้เมื่อมันคิด

อยากจะบอกว่า ความจริงตรงหน้าคือทุกขณะจิต จิตมันคิด มันปรุง รัก ชอบ ชัง เกลียด อยาก ไม่อยาก เผลอ ไม่เผลอ นิ่ง หรือสับส่าย....

มันสนุกมิใช่น้อย เหมือนเกมตามนาง นางคือความคิด เปรียบเราเป็นหนุ่มมีแฟน แฟนหาย เราตามหา เห็น ไม่เห็น ชัด ไม่ชัด หลงทาง หรือมาถูกทาง

ถ้ามันคิด เรารู้มัน มันเปลี่ยน มันหายหน้า มันไม่ไปต่อ แต่ดูเถอะ อย่าเผลอ เดี๋ยวมันก็คิดอีก อย่าเผลอเชียว ดูมันไว้ จองดูมันไว้


วันใด ยามใด ใจเราสบาย นิ่งดี สงบดี
วันนั้น ความคิดจะเบาบาง คือ มันไม่คิด ความคิดมันนอน มันพักผ่อน มันไม่ทำงาน
แต่ไม่ใช่มันตาย เดี๋ยวมันจะมา มาแน่
วันเช่นนี้ อย่าประมาทเชียว ดูมันไว่ จ้องหน้ามันไว้

จะวัดกันว่าจิตใจใครแน่ จิตใจใครสงบเย็นดี มั่นคงดีมีสติพร้อม ต้องดูวันที่ความคิดมันทำงาน คิดนั่นนี่ ไม่เลิก คิดทุกเวลานาที
วันนี้แหละวันศึกษา วันเข้าโรงเรียน...

สังเกตกันนะ สังเกตดูดีๆ


วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565

คนท่อคน คู่ทางคนแท้

• คนท่อคน คู่ทางคนแท้ •

นาบ่าวหนึ่งว่า
"ดินทรายร่วนเหนียวฮอดหิน ท่อกัน
หญ้าบั่วหญ้าหวายฮอดข้าว ท่อกัน
กกไม้ใหญ่น้อย ท่อกัน
สายลมแสงแดด ท่อกัน
ตาเว็น จัน ดาว ท่อกัน

นาสาวหนึ่งว่า
ฮักกับรัก ท่อกัน
ซังกับชัง ท่อกัน
คึดฮอดกับคิดถึง ท่อกัน
คะนิงนำกับห่วงใย ท่อกัน

อาวหนึ่งว่า
หลวงปู่กับผีบ้าแบกถุงปุ๋ยนอนข้างทาง ท่อกัน
พ่อค้ากับพ่อนา ท่อกัน
เครื่องบินกับรถไถนา ท่อกัน
ตึกฮ้อยชั้นกับเถียงนา ท่อกัน
ทางสูงก่ายเกี้ยวฮอดมุดโพ่งกับทางดินทรายไปนา ท่อกัน
โพนผักแนวกับโพนผักกู้ขาย ท่อกัน

อาหนึ่งว่า
สาวหมอลำกับย่ายายหมอลำ ท่อกัน
ลำเพลินกับลำล่อง ท่อกัน
แม่ออกกับแม่ชี ท่อกัน
แม่ครัวในงานศพกับพ่อบ้านประธานเมือง ท่อกัน
แม่เมียกับแม่ตัว ท่อกัน
นาท่งกับนาตีนบ้าน ท่อกัน
ข้าวเม่ากับข้าวหลาม ท่อกัน
แม่ฮ่างกับสาวโสด ท่อกัน

ลุงหนึ่งว่า
โตธรรมกับโตไทน้อย ท่อกัน
นักเทศน์กับนักภาวนา ท่อกัน
คนนากับคนเมือง ท่อกัน
ปริญญากับข้าวกล้า ท่อกัน
ลูกเขยกับลูกเลี้ยง ท่อกัน
ลูกใภ้กับลูกสาว ท่อกัน
ใบลานกับฮูปแต้ม ท่อกัน
มดแดงกับงัวควาย ท่อกัน
ปลาข่อใหญ่กับปลาซิวปลาส้อย ท่อกัน

ป้าหนึ่งว่า
ฮอยยักษ์กับฮอยยิ้ม ท่อกัน
ไหมขี้โป้กับไหมน้อย ท่อกัน
แพรฝ้ายกับแพรไหม ท่อกัน
ทางเครือกับทางต่ำ ท่อกัน
ผ้าฮีม่อนกับผ้าซิ่นต่ง ท่อกัน
ย่ากับแม่ ท่อกัน
ปู่กับพ่อ ท่อกัน
แม่ใหญ่กับพ่อใหญ่ ท่อกัน

นกนาหนึ่งว่า
กับข้าวกับข้าวในก่อง ท่อกัน
ข้าวเปียกกับข้าวสาร ท่อกัน
ข้าวจ้าวกับข้าวเหนียว ท่อกัน
ข้าวนาห้วยกับนาโคก ท่อกัน
ข้าวใหม่กับข้าวเก่า ท่อกัน

ข่อยเลยว่า
คนกับคน ท่อกัน
คนมักโลภกับคนป่วงบ้าบ่พอปัว ท่อกัน
คนบ่พอกับคนย่านอำนาจเซียม ท่อกัน
คนสั่งการกับคนยิงคน ท่อกัน
คนถิ่มระเบิดกับคนรอฟังผลสั่งการ ท่อกัน

แต่....
ข่อยอยากฮู่คือกันว่าคนซุมนี่
คือทำท่าลืมปานหมู่บ่ช่วยหมู่ตกน้ำสามสี่มื้อค่อยตื่นค่อยท้วงนั่นตี้
คนซุมนี่คือบ่ย่านเจ้าของเจ็บปวดป่วยเข็ญทุกข์ทรมานคือคนอื่น
คนซุมนี่คือบ่เป็นคน
คนบ่เป็นคนแม่นบ่ซุมนี่
คนท่อคน ใช้กับคนซุมนี่บ่ได้แหลว

โพดฮ่ายเหมิดความสิป้อย

ซุมแซงเซื่อสัตว์นรกมาเกิด
เกิดใหญ่แล้วสัตว์สาวาสิ่งย่าน
เห็นแล้วกะแล่นหนี

.......
บ่าวทิ BaawThi
ขอประณามคนบ้าอำนาจ
ขอสาปส่งคนก่อสงครามทุกรูปแบบ
ทั้งเบื้องหลังเบื้องหน้าสู่ก้ำฝ่าย
และพร้อมกันนี่
ขอส่งกุศลความดีงามของผุข่า
ไปโฮมฮ่วมกับความดีงามของผู้คนในโลกหล้าจักรวาล 
เพื่อไปฮักษาชูช่วยเป็นแฮงใจแฮงกายแฮงความคิดอ่าน
และเปิดป่องหนีภัยสงครามทั้งหลาย
ให้ทุกคนทุกหม่องบ่อนพ้นผ่านมันไปได้
โดยปลอดภัยในเร็ววันด้วย เทอญ

บทเพลง คึดได้ไปเป็น l บ่าวทิ ยางชุมน้อย

ว่าด้วยที่มาของบทเพลง "คึดได้ไปเป็น" •เกิดมาน้อยเท่าใหญ่ ฟังเพลงบอกรักหรือแสดงบุญคุณแม่พ่อ ก็มีแต่เพลงแยก •มีเพลงแม่ อย่าง ค่าน้ำน...