ปัญหาการทำงานสร้างสรรค์ทุกอย่าง รวมทั้งการคิดแต่งนวนิยายด้วยนั้น ผมว่า หนีไม่พ้นปัญหา "ไม่ลงมือทำ" ไม่ว่าท่านจะเป็นมนุษย์อัจฉริยะระดับเทพ หรือคนธรรมดาๆ ก็ตาม ถ้าลองไม่ลงมือทำสักที มีแต่คิดๆ ๆ ๆ... อย่างเดียว ก็คงไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นแน่แท้
เดี๋ยวเรามาว่ากัน
แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง "เริ่มแต่งนวนิยาย" เรามาทบทวนโพสต์ที่แล้วกันก่อนนะครับ
ครั้งที่แล้ว คุยกันเกี่ยวกับการ "คิดเรื่อง" คือ คิดว่าจะแต่งเรื่องอะไร แนวใด เป็นเรื่องราวของตัวละครใดกันบ้าง หรือเป็นเรื่องของใครกับใครบ้าง จะให้มีเนื้อหาเกี่ยวแก่สิ่งใดบ้าง รวมทั้งจะสอดแทรกสาระความรู้ เกร็ด ประวัติ หรืออะไรๆ ที่เหมาะสม ลงไปในเรื่องบ้าง
ครั้งนี้ อยากเพิ่มเติมสักหน่อยว่า ควรกำหนดบทนวนิยายหรือความยาวของนวนิยายลงไปเลย จะดีต่อการแต่งมาก (ลำดับการประกอบส่วนนวนิยาย 1 เรื่อง อาจแบ่งเป็นภาคๆ แต่ละภาคอาจแบ่งเป็นตอนๆ แต่ละตอนอาจแบ่งเป็นบทๆ ได้ตามต้องการ) เพราะจะได้กำหนดบทจบ หรือคิดบท/ตอนจบไว้ล่วงหน้าได้ เช่น จะแต่งนวนิยายสั้น จำนวน 10 บทจบ อย่างที่ ทางหอม แต่ง ข่อหล่อเพื่อนกัน หรือ จะแต่ง 20 บทจบ หรือถ้าเขียนแต่ละบทยาวหน่อย อาจกำหนดบทน้อยลงเป็น จะแต่ง 5 บทจบ หรือจะแต่งเป็นภาคเลย เช่น แต่ง 2 ภาคจบ ก็ย่อมทำได้ สุดแท้แต่การออกแบบ แต่ถ้าจะให้ดี ควรเขียนลงหน้ากระดาษ หรือ โน้ตไว้ในโทรศัพท์หรือแท็ปเล็ต หรือโน้ตบุ๊ค... เพื่อจะได้หยิบ-แตะ-เปิดมาทบทวน กระตุ้นการทำงานเขียนนวนิยายของตนได้เรื่อยๆ
ต่อจากนี้ไป ก็ตามที่เกริ่นไว้น่ะครับ สำคัญที่สุด ให้ลงมือแต่งทันที! เขียน/แต่งนวนิยาย ต้องลงมือ ททท. ทำทันที
อย่าช้านะครับ เพราะวันเวลาล่วงเลยไปไม่หวนคืน ไม่รู้แน่ ว่าพรุ่งนี้จะมีชีวิต หรือชีวิตจะเป็นอย่างไร จะมีเวลาได้แต่งนวนิยายหรือไม่
ไอ้การลงมือของคนคิดแต่งนวนิยายนี้ ก็มีหลายอย่างที่ เริ่มจาก เครื่องมือประจำตัว ต่อด้วย อารมณ์ และเวลา
อย่างแรกคือเครื่องมือ นักเขียนจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะกับจริตของตน ด้วยนะครับ จึงจะสะดวกและช่วยให้งานเขียนก้าวหน้าไว
เพื่อทบทวนตนเอง ว่าเราถนัดเครื่องมืออะไร สำหรับการแต่งนวนิยาย เราจึงควรมาว่ากันด้วยเรื่องความถนัดในการใช้เครื่องมือคิดแต่งนวนิยายของคนทั่วๆ ไป กันก่อน
คนแต่งหนังสือประเภทต่างๆ รวมทั้งนิยาย หรือนวนิยาย ย่อมมีเครื่องมือของตนๆ ที่ตนถนัด ที่ตนคุ้นเคย เหมือนเป็นเพื่อนคู่คิดคนเขียน ซึ่งย่อมแตกต่างกันไป
บางคนอาจถนัดใช้ดินสอปากกาเขียนลงหน้ากระดาษ แล้วค่อยมาพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์อีกที ถ้าชอบแบบนี้ ก็เชิญเลยครับ หาดินสอ ปากกา สมุด หรือกระดาษที่เขียนลื่นเบามือ เหมาะมือ
บางคนอาจถนัดพิมพ์ลงโน้ตบุ๊ค ก็ควรมีเครื่องโน้ตบุ๊คที่มีโปรแกรมพิมพ์งาน มีความจำความจุที่พร้อมจะบันทึกงานไว้ได้ด้วย
บางคนอาจถนัดพิมพ์ลงแท็ปเล็ต หรือมือถือแบบสมาร์ทโฟน ก็ต้องเตรียมเครื่องมือนี้ให้พร้อมเช่นกัน
หรือหลายคนอาจถนัดพิมพ์ลงไลน์ ลงเฟซ ลงเพจ ลงบล็อก แล้วโพสต์ไว้ พอจบเรื่องแล้ว ค่อยก๊อปปี้มาวางลงคอมพิวเตอร์เพื่อปรับปรุงพัฒนาต้นฉบับนวนิยายของตนอีกที
ใครถนัดใช้เครื่องมือใด อย่างไร ก็เตรียมให้พร้อมเลยครับ
ต่อมา การเตรียมอารมณ์ หรือบางคนอาจเรียกว่า แรงบันดาลใจ หรือแรงกระตุ้น อันนี้ ผมจะพูดรวมๆ นะครับ
การเตรียมอารมณ์ให้พร้อมแต่งหนังสือ แต่งนวนิยายนั้น อาจเริ่มจากมีเป้าหมายชัดเจน เป้าหมายคือชัยชนะ คือสิ่งที่เราเล็งเห็นคุณค่า ประโยชน์ทั้งหลาย อันจะนำมาซึ่งความสุข ความภาคภูมิใจ อย่างผมคิดแต่ง ข่อหล่อเพื่อนกัน ก็ด้วยเป้าหมายอยากมีนวนิยายเยาวชนขนาดสั้นไว้เป็นตัวอย่างเวลาสอนนักเรียน พอเรามีเป้าหมายชัดเจน ก็จะมีกะจิตกะใจทุ่มเทลงมือแต่งได้ทันที ทีนี้พอแต่งไปๆ สองบท สามบท บางครั้งบางคนก็เริ่มจะขี้เกียจ เบื่อ ตัน คิดไม่ออก อย่างนี้ก็ต้องหาแรงกระตุ้นเพิ่มกันอีกสักหน่อย โดยอาจไปดูหนัง ฟังเพลง ค้นคว้าข้อมูลการเขียน ไปหาเพื่อนพูดคุย ไปดื่มชากาแฟ... ไปท่องเที่ยว.. หรือกลับไปอ่านหนังสือเล่มที่ตนชอบ... แล้วเมื่อพลังฮึดเกิดขึ้นมาอีกครั้ง นั่นแหละ จงรีบลงมือแต่ง/เขียนงานต่อทันที อย่าช้า เดี๋ยวไฟมันจะมอดดับไปเสียก่อน
เอาล่ะครับ สุดท้ายคือเรื่อง เวลาในการแต่งนวนิยายของเรา จะเอาเวลาที่ไหนนะ...
เพราะแม้เครื่องมือจะพร้อม อารมณ์จะมา แต่ไม่มีเวลา ก็ไม่มีความหมาย เราก็ไม่อาจแต่งนวนิยายให้จบเป็นบท เป็นตอน เป็นภาค จนแล้วเสร็จจบเป็นเรื่องได้
อันเวลานี้ แน่นอน 24 ชั่วโมงเท่ากันก็จริงครับ แต่หลายคนก็มีภาระรับผิดชอบ ทั้งชีวิตตน คนรอบข้าง ครอบครัว และไหนจะงานประจำก็ต้องทำอีก (ณ ที่นี้ เชื่อว่านักเขียนไทยส่วนใหญ่... ไร้พื้นที่ บุคคล องค์กรเกื้อกูลสนับสนุน การเขียนหนังสือของคนในสังคมเรา ยังไม่ได้รับการรับรอง ไม่ได้รับการยกขึ้นเป็นอาชีพอย่างแท้จริง อย่างเปิดเผย แพร่หลาย และมีรายได้สมน้ำสมเนื้อ โดยเฉพาะในทางนิตินัย คนเขียนหนังสือในสังคมบ้านเราส่วนใหญ่ เขียนเพราะรัก เขียนเป็นงานอดิเรก จึงต่างจำต้องยึดอาชีพประจำอื่นทำมาหากิน ให้มีชีวิตอยู่ เพื่อหล่อเลี้ยงความฝันที่จะได้เขียนงานสืบไป...) ตื่นเช้าเร่งรีบไปทำงาน กลับมาก็ค่ำ กินข้าวปลา ทำภารกิจงานบ้าน กว่าจะเสร็จก็เหนื่อยล้าหมดแรงแล้ว ก็ต้องอาบน้ำพักผ่อน หมดไปวันๆ ไม่ได้ลงมือเขียนสักที อย่างนี้ก็ยากล่ะครับ พอวันหยุดก็มีงานมีการในหมู่เครือญาติเพื่อนฝูงที่ต้องไป ต้องดำเนินการอีก ...ยากมาก ที่จะมีเวลาเขียนนวนิยายที่ร่างขึ้นในหัว หรือแม้แต่ที่ร่างโครงเรื่องเสร็จในกระดาษ อย่างละเอียดลออดีแล้วเพียงใดก็ตาม
ครับ ที่ผมจะบอกต่อไปก็คือ การแชร์ประสบการณ์ วิธีหาเวลาสำหรับลงมือเขียนให้ได้น่ะครับ ต้องหาให้ได้ ต้องลงมือเขียนให้ได้
วิธีแรกอาจเริ่มจาก ทำข้อตกลงกับครอบครัว ขอเวลาเขียนงานสักวันละ/สัปดาห์ละ ครึ่ง-หนึ่งชั่วโมง การทำเช่นนี้ บางคนอาจไม่ทำเป็น ไม่ถนัด ไม่อยากจะพูดกับคนในครอบครัว ยิ่งครอบครัวที่ไม่ใช่นักอ่าน ไม่ใช่ศิลปิน ก็ยากก็ยุ่งขึ้นไปอีก แต่ก็อาจทำทางอ้อมได้นะครับ เช่น พอว่างจากภารกิจในบ้านเวลาใด ก็ลงมือเขียนเป็นประจำ ให้ครอบครัวรู้ว่าเป็นเวลาของเรา ถ้าเคารพกันและกันแล้ว เวลาที่ว่า คงไม่มีใครมายึด มาก้าวก่าย...
วิธีหาเวลาเขียนอีกวิธีก็คือ เขียนทุกที่ทุกเวลาที่พอจะหาได้ เช่น ถ้าใครใช้แท็ปเล็ตเหมือนทางหอม ก็เอาเวลาพักกลางวันสิ เวลาพักเบรก เวลารอในรถ...สิ เป็นเวลาทองสำหรับเขียน/แต่ง วิธีนี้อาจเรียก "ว่างเป็นเขียน พักเป็นแต่ง" ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ค่อยๆ แต่งทีละเล็กละน้อย สะสมไปเรื่อยๆ 1 ปี 2 ปี 5 ปี เราก็จะมีนวนิยายของตนสักเรื่องได้
ลองคิดหาวิธีจัดสรรเวลาเขียนดูนะครับ เอาแบบที่สบายใจทั้งตนและคนรอบข้างนั่นแหละ แต่ขอร้องว่า อย่าทำให้กลายเป็นข้อแม้ เป็นปัญหาขัดแย้งกับคนในครอบครัว ละกัน เพราะถ้าทำอย่างนั้น จะไม่เกิดความสุขจากการเขียนที่น่ารื่นรมย์สักเท่าไหร่เลย
ครับ เมื่อมีทุกอย่างพร้อมแล้ว ทั้งคิดเรื่อง เครื่องมือ อารมณ์ และเวลา ก็ตะลุยเขียนเลยครับ อย่าลังเลว่ามันจะออกมาไม่ดีไม่งาม เขียนเถอะครับ ตะลุยไปเล้ย! เขียน/แต่ง แบบด้นไปก่อน ร่างแรกนี้ เขียนให้จบแต่ละบทๆ ไม่นานก็จะจบเป็นเรื่องได้แน่นอนครับ
ถ้าเรามุ่งมั่นไม่หยุด การเขียนนวนิยายสักเรื่อง มันต้องเสร็จ ต้องสำเร็จ ต้องเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
แล้วพบกันใหม่ครับ
|ทางหอม
จ.14.12.2563