วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565

นักเรียนมัธยมกับการอ่าน...วันนี้?

 หนังสือเล่ม คือความเป็นอื่น?

จะว่าไป การที่นักเรียนมัธยมปัจจุบันส่วนใหญ่ (ร้อยละเกินแปดสิบ...) ที่ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสจากการสอนวิชาเกี่ยวแก่วรรณกรรม ไม่สนใจอ่านหนังสือเล่ม ทั้งหนังสือเรียน และหนังสืออ่านเล่น ไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม การ์ตูน นิยาย นิยายแปล... ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนัก

| โปรดทราบ บทความนี้ มีได้ขยายขอบเขตการอ่านไปถึงการดู ฟัง อ่าน ในโลกออนไลน์ นะครับ |

เพราะเมื่อผู้เขียนหันมามองตนเอง แม้จะรักชอบการอ่านมายาวนาน ตั้งแต่จำได้ว่าเคยขโมยหนังสือพี่สาวลูกป้ามาอ่าน ราวตอนเรียนชั้น ป.4 -5 ตกถึงวันนี้ นับได้ สามสิบกว่าปีแล้ว ก็ไม่มีเวลาอ่านมากมายนัก ต้องหลบมุม หลีกวิถีครอบครัว ชุมชน สังคมออกไป กว่าจะได้อ่านหนังสือเต็มคราบเต็มที่ตามใจปรารถนาสักเล่ม...สักครั้ง...

ลอองอุบล 3 | ยุววรรณกรนารีนุกูล อุบลราชธานี และ ฝนฝัน ซีซั่น 4 | ยุวประพันธกร ศ.ก.ว. ศรีสะเกษ

ลองพิจารณาดู ก็เพราะสังคมเรา (อีสานใต้ ศรีสะเกษ-อุบลฯ | ที่อื่นๆ มิอาจรู้ได้) ไม่ใช่สังคมที่ให้คุณค่ากับการอ่านและคนอ่านหนังสือ แม้ว่าผู้ปกครองนักเรียนทั้งหลาย ปากจะพูดว่า อยากให้ลูกอ่านหนังสือ อยากให้ลูกเป็นนักเรียนที่รักการอ่าน แต่พฤติกรรมการส่งเสริม เช่น ซื้อหนังสือให้ลูก พาลูกเข้าร้านหนังสือ เข้าห้องสมุด... ก็มีกันน้อยเต็มที การจัดสรรเวลา มุมน้อยๆ ในบ้านในครอบครัวให้ลูกรักอ่านหนังสือ ก็มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจจะลักษณะ เป็นการเป็นงาน..

สังคมในรั้วโรงเรียนก็เช่นกัน กลุ่มสาระฯภาษาไทยก็ดี งานห้องสมุดโรงเรียนก็ดี ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง ก็ไม่สามารถออกแรงอะไรได้มาก ในเรื่องการกระตุ้นส่งเสริม ในรูปกิจกรรมหรือโครงการใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้อาจเพราะหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. ก็มิได้ปักธงรบจริงจังในเรื่องนี้ แม้จะมีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้มาบ้าง แต่ก็เป็นแค่หนังสือสั่งการ หามีเม็ดเงินหรือหนังสือดีๆ หรือทีมงานวิทยากร... ส่งแนบมาสำหรับจัดกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านถึงตัวเด็กนักเรียนไม่

กล่าวโดยรวมๆ ก็เป็นอันว่า สังคมเราจัดการส่งเสริมการอ่าน แค่ วาทกรรมเท่ๆ เท่านั้น

นี่มิรวมถึง พฤติกรรมของผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ลุงป้าน้าอา พี่ๆ ทั้งหลาย ที่หาตัวจับยากเย็นเต็มที ว่าเป็นนักอ่าน หรือเอาแค่คนสนใจแบ่งเวลาอ่านหนังสือเล่ม พอเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานในเรื่องนี้

นั่นแสดงว่า หนังสือเล่มคือความเป็นอื่นในสังคมเราไหม? 

ผู้ใหญ่ทั้งหลายหรือคนมีการศึกษาที่พอจะเข้าใจ หรือมองเห็นประโยชน์และคุณค่าของการอ่านอย่างจริงจัง แบบว่า เป็นนักอ่านตัวยง จัดบรรยากาศบ้านเรือน เช่น มีหนังสือ มีมุมหนังสือที่น่านั่งอ่าน นอนอ่าน จัดสรรเวลาครอบครัวให้เอื้อต่อการอ่านของสมาชิกในบ้าน จัดกิจกรรมพาไปห้องสมุด... ไปงานเสวนา ไปร้านหนังสือ ไปงานมหกรรมกรรมขายหนังสือ... มีไหม? ถ้ามี มีกี่คนในหนึ่งตำบล หนึ่งอำเภอ และหนึ่งจังหวัด และถ้ามี มีเพราะได้รับโอกาสการปลูกฝังจากครอบครัว แบบรุ่นสู่รุ่น หรือ จากระบบโรงเรียนแบบปีต่อปี ชั่นต่อชั้น หรือ มีเพราะด้วยใจรักอย่างโดดเดี่ยว โดดเดี่ยว เป็นอื่นจากสังคม อย่างน่าสงสาร อย่างน่าสมเพชเวทนา???

อ่านเล่นเติมความสุข อ่านเสริมเติมความงามในชีวิต อ่านกันไหม?

ที่กล่าวมา หากหนังสือยังไม่เป็นอื่นในสังคมเราเสียทีเดียว สาเหตุอาจไม่ใช่แค่ฝั่งผู้อ่านอย่างเดียวใช่ไหม? ที่ไม่อ่าน ไม่แสวงหา แต่อาจเป็นด้วยระบบการส่งเสริมการอ่านของสังคมเราที่อ่อนแอเกิน? หรือกระทั่งอาจเป็นเพราะระบบหนังสือของบ้านเรายังไม่ดีพอ? ไม่มีห้องสมุดดีๆ มากพอ ไม่มีร้านหนังสือดีๆ มากพอ ไม่มีหนังสือดีๆ มากพอ ไม่มีนักเขียนดีๆ มากพอ พอจะดึงดูด โน้มใจคนให้อยากหยิบหนังสือสักเล่มสองเล่ม...ขึ้นมาอ่านกัน

อย่างไรก็ดี สาเหตุหนึ่ง อาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของสังคมบ้านเราก็เป็นได้ สำนึกที่ว่า คนอ่านหรือการอ่านจะต้องเพื่อความดีเลิศประเสริฐศรี มีชั้น มีคลาส มีระดับ ต้องปีนบันไดขึ้นหา อย่างบัณฑิต มกาบัณฑิต ดอกเตอร์ทั้งหลาย หรือต้องอ่านเพื่อเก่ง เพื่อฉลาด เพื่อเจริญทางวิชาการ การงานอาชีพ... พวกนั้นไงเล่าจึงจะสมควรเสียเวลานั่งอ่านคราบหมึกถ่ายทอดตัวหนังสือติดแน่นบนหน้ากระดาษ... หรือไม่?

แล้วการอ่านเพื่อความบันเทิง เติมความสุขสรรค์หรรษา เติมมุมมองชีวิตที่หลากหลาย เติมทัศนคติการมองโลกที่ลึกซึ้ง หรือที่เรียกว่าเติม "สุนทรียภาพ" /ความงามให้แก่ชีวิตเล่า มีตัวตนอยู่ในสังคมเราบ้างหรือเปล่า?

ความบันเทิง ความสุข ความงามที่ว่านี้ มันอาจแตกต่างจากการดูคลิป ดูหนัง ดูละคร ดูข่าว ฟังเพลง ดูการเลื่อนข้อความ ดูโพสต์ ดูสติ๊กเกอร์...ในมือถือ อย่างที่เราสมควรจะเพิ่มทางเลือกให้ชีวิตเราบ้าง ดีไหม?

คำถามนี้ ผู้เขียนถามตัวเองมานาน และมีคำตอบชัดเจนแล้ว ...ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเห็น หรือตอบคำถามตนเองอย่างไรบ้างหนอ

-----------------------------------------

| ผู้เขียน : ธีรยุทธ บุษบงค์ | ครูสอนภาษาและวรรณกรรม. นารีนุกูล, อุบลราชธานี. |



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทเพลง คึดได้ไปเป็น l บ่าวทิ ยางชุมน้อย

ว่าด้วยที่มาของบทเพลง "คึดได้ไปเป็น" •เกิดมาน้อยเท่าใหญ่ ฟังเพลงบอกรักหรือแสดงบุญคุณแม่พ่อ ก็มีแต่เพลงแยก •มีเพลงแม่ อย่าง ค่าน้ำน...