วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565

ในดอก บอกข่าว #1

 ล่ะย่างคิมหันต์หันฟ้าว

หนาวในทรวงสุดที่อ่าว
ฮ้อนในอกปวดร้าวเหลือโอ้โอ่ล่ะเด
คือเสาเซเถียงนาเศร้า
เหงาตอเฟียงอาบขี้ฝุ่น
ลมหัวกุดพัดวุ่นละเวินบั้นท่งสถาน

บนบาน ใดใด ให้หายส่วง
ให้หาย โศกสลดปวง กับข่าวสาร
ปล้นจี้ ระเบิดใจ รักกันดาร
ประหัตประหาร ลั่นลูกปืน ขมขื่นคาว

ใผเดนอ หนาวในแล้ง
ใผเดแพง แล้งบ่หวั่น
แพงฮักหอม ดอมแต่งชั้น
สวรรค์แท้ แผ่อุ่นคีง
เดละนอ……
เดคำเอ้ย…

ผู้โชคดี

-เรื่องสั้นโดย คีต์ คิมหันต์-


 22 ธันวา

ถึง คุณ ณ อีกหน้าจอ

ความจงใจใดเล่า จะทำให้อึดอัดขัดเคืองได้มากกว่า การสารภาพรัก แม้มันจะดูน่ารังเกียจเมื่อทำมันลงไปผ่านโลกเสมือน แต่ใจก็มิวายกังวลว่า สมควรไหม

จริงอยู่เราส่งข้อความสนทนากันมายาวนานกว่าสิบแปดปีแล้ว แม้ไม่ใช่การสื่อสารแบบทางเดียวเสียทีเดียว เพราะคุณก็โต้ตอบมาบ้าง เป็นข้อความง่ายๆ แต่สุภาพ จนผมประทับใจ บางคำบางวลี หรือกระทั่งบางประโยค ถึงขั้นอิ่มเอม ซาบซึ้ง ถึงขั้นเก็บมานอนฝัน หรือส่วนใหญ่คุณอาจแค่ส่งสติ๊กเกอร์รูปมือชูนิ้วโป้งมาให้แทนการตอบด้วยขบวนอักษร กระนั้นผมก็คิดในทางบวกเสมอ

วันนี้แค่นี้ก่อนนะครับ ผมต้องเตรียมกระเป๋าออกเดินทางก่อน ไปที่ทุ่งแห่งนั้น ที่ผมเคยเขียนเล่าว่า ผมอาจเลือกเป็นที่ตาย

ปล. ฝุ่นเยอะมากนะ ในเมืองของเรา ดูแลสุขภาพนะครับ

------

11 มกรา

ถึงคุณ ที่ความคิดถึงยังคึดฮอดตลอดเรื่อยมา

ผมตั้งใจ ไม่กวนคุณด้วยข้อความบันทึกมาเป็นยี่สิบวันแล้ว ส่งแค่ภาพถ่ายใบส้มแบงหลากลีลาบวกอักษรโตธัมม์และคำไทย มาให้ทุกเช้า

หากคุณเผอิญนำมาลำดับเข้า คิดตั้งเป็นชื่อบทนวนิวยายสักเรื่อง แล้วลองลงมือเขียนอย่างที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้ เราก็น่าจะได้นวนิยายเล่มงาม ไว้บอกกล่าวแก่คนที่จะมาอ่านมัน ว่ามันจะอยู่คู่โลกใบนี้ไปอีกนานแสนนาน

ผมตัดสินใจอยู่และสร้างงานที่นี่นะ หากคุณอยากแวะมาบ้าง ผละจากเมืองฝุ่นละออง หนีจากองค์การอันทรงเกียรติ พักการงานอันช่วยพยุงอุ้มชูสังคมของคุณ มาอยู่ชื่นชมธรรมชาติบ้านทุ่ง ดงหญ้าป่าละเมาะพื้นเมืองและสวนป่าดอกไม้ยืนต้นประจำถิ่น สักสัปดาห์บ้าง ก็คงนับเป็นโชคดีของผมมิใช่น้อย

(ก็คุณเขียนเล่าไว้ในสเตัสส่วนตัวนี่ ว่าคุณเป็นคนรักธรรมชาติและรักคนอยู่คนรักษาธรรมชาติ)

โอ ถึงเวลาชมดอกกะยอมแล้วเด

----------

11 กุมภา

ถึงคุณ คนงามสะพรั่งกลางใจดั่งพั้วดอกขะยอมหอมเช้าหมอกขัวนัว

ยินดีและขอบคุณหลายที่แจ้งให้ฮู้ผ่านคลิปอ่านบทกวีในยูทูป "ลาวเว่าว่า ชาแนล" ทำให้ข่อยเพิ่งมั่นใจว่าเจ้าบ่ขะลำแถมยกยอภาษาอีพ่ออีแม่เฮาอีกนำ

ต่อเรื่องพี่ชายเจ้าของสวนป่าขะยอม จาน ส้มแบง และเสลา กันนะ

เขาเคยเป็นมาหลายอย่าง ก่อนจะมาทำสวนป่าแห่งอนาคตอันรื่รมย์ของข่อย โดยขณะลาวลงมือลงแรงปลูกเสริมต้นไม้สี่สายพันธุ์นี้ ให้เป็นแถวเป็นแนว แทนที่การปลูกยางพาราไร้ราคาค่างวดที่ปลูกแทนข้าวนาปีในที่โคกดอนมาอีกทอดหนึ่ง

ที่แห่งนี้เคยเป็นมรดกของครอบครัวเฮา แต่เพราะอ้ายเพิ่นมักเดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพ พบปะเพื่อนใหม่ๆ ไปทุกภาคของประเทศ เพื่อนสมัยป.ตรี ที่รามคำแหง ก็ช่างชวน และเลี้ยงดูปูเสื่อเอื้อเฟื้อดีนักแล ทริปหลายสิบทริปไปประเทศในอุษาคเนย์และเอเชียก็เกิดขึ้น เพิ่นได้ไป ได้ถ่ายภาพ ได้ขายภาพ 

พักหลังคลั่งไคล้ถ่ายภาพดอกไม้ประจำถิ่น ถึงขนาดขอเพื่อนเจ้าของต้นขะยอมในที่ข้างๆ กันนี้ ทำบ้านต้นไม้แบบง่ายๆ กินนอนอยู่ในนั่นกับกล้องถ่ายรูปดิจิตอลตัวหนึ่งเป็นอาทิตย์ ตั้งแต่ดอกขะยอมเริ่มจ่อดอกจูมจีจนมันร่วงหล่นดินหมดต้น จึงลงมา

รูปชุดนั้นเอง ที่เพิ่นฝากขายในเว็บ ได้รับค่าตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ จนสามารถซื้อที่ดินผืนนี้คืนจากลุงที่ป่วยเป็นมะเร็งตรงข้อมือ ตัดแล้ว ทำคีโมแล้ว ก็ไม่หาย เงินที่พี่ชายข่อยจ่ายซื้อที่สิบหกไร่ตรงนี้ แม้จะมากถึงเจ็ดหลัก (ทั้งที่นาโคกไกลถนนหลวง-แพงคักแน สมัยเงินบ่มีราคา) ก็ไม่อาจใช้รักษายื้อชีวิตลุงได้

จากนั้นอ้ายเพิ่นกะตัดขายไม้ยางพารา จ้างรถไถมาปรับที่เป็นสามล็อค ตามความยาว ถ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ แถวติดแดนซ้ายสุดกะล่ะแม่นกกจาน ถัดมากะแม่นขะยอม ส้มแบง และเสลาเรียงแถวยุขวามือสุด

พันธุ์ไม้นี่เพิ่นได้มาจากการลงมือเพาะเอง ปลูกไปนำ เพาะไปนำ โดยเดินคอนกะต่าหาเก็บนำต้นแม่ตามงานนาท่ง นาโคกของพี่น้องอ้อมหมู่บ้าน

ใช้เวลาอยู่เป็นสิบปีกว่าสิได้แถวกกไม้ครบทุกต้นตามประสงค์ ที่เพิ่นตั้งใจปลูกให้ห่างกันต้นละซาวเมตร

ใผมาเห็นตอนนั่นกะล่ะแม่นว่าเพิ่นเป็นบ้า ชาวบ้านเขาเฮ็เนาปลูกเข้า ปลูกหอม พริก ฟักแฟง แต่งเต้า หรือบ่กะยางพารา มันสำปะหลัง นี่อีหยัง ปลูกกกไม้ ที่มันกะมียุแล้ว ปลูกทำไม บ้าไปแล้ว

แต่มาถึงตอนนี้ เกือบสามสิบปีเต็ม ทุกต้นใหญ่สูงเป็นหนุ่มสาวทรงพุ่มแผ่กว้าง ถึงฤดูก็เริ่มแต่งต้นด้วยดอกงามตามสายพันธุ์พ่อแม่

ข่อยโชคดีที่สุด ได้มาชื่นชมผลงานบทกวีต้นไม้ให้ดอกตามฤดูกาล ที่ผู้สร้างสรรค์ปั้นแปงตายจากไป ก่อนจะได้ชมดอกดั้วพวงก่องงามทั้งหลายนี่

ไว้คุยกันต่อเดอครับ ไปถ่ายฮูปดอกเสลาม่วงเทางามก่อน บ่ายคล้อยแดดงามแสงงามเดี๋ยวจะพลาด เดี๋ยวผมส่งคลิปดอกเสลาเคล้าสายลมมาให้นะ

คึดฮอดกันน้อครับ ดีหลายๆ

----------

14 กุมภา

หญิงสาวนั่งรถสองแถวประจำทาง ที่เคลื่อนออกจากตัวจังหวัด มุ่งไปสู่สวนป่าเบญจพันธุ์ เธอชั่งใจอยู่นาน ระหว่างเรื่องราวพิลึกของพี่ชายที่ตายไปของเขา ตัวเขา และสวนป่าดอกไม้ประจำถิ่น หรือบันทึกในกล่องข้อความกันแน่ ที่ทำให้เธอลาออกจากงาน เพื่อหนีเมืองฝุ่นฝ้าล้าอ่อน ไปยังที่ๆไม่เคยไป ไปหาคนที่เหมือนคุ้นเคยแต่ไม่เคยอยู่สองต่อสองเกินสองนาที

แน่นอนทีเดียว ตามที่เขาบอก ต้นไม้ทุกต้นดอกวายก่อนหน้านานกว่าสองสัปดาห์แล้ว แต่ความงามของรูปร่างลำต้นและใบเขียวใหม่ ที่ยืนอวดทรวดทรงปานแถวนางงามจักรวาลก็ยังชวนชม ชวนหลงใหล

เธอหวังว่า การตัดสินใจครั้งนี้ อย่างน้อยก็คงไม่เลวร้ายถึงขั้นป่วยหนัก หรือทำให้บาดเจ็บล้มตาย อย่างน้อยก็คงได้เห็นสวนป่าตัวเป็นที่เคยฝันเห็นตลอดห้าปีมานี้.






นักเรียนมัธยมกับการอ่าน...วันนี้?

 หนังสือเล่ม คือความเป็นอื่น?

จะว่าไป การที่นักเรียนมัธยมปัจจุบันส่วนใหญ่ (ร้อยละเกินแปดสิบ...) ที่ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสจากการสอนวิชาเกี่ยวแก่วรรณกรรม ไม่สนใจอ่านหนังสือเล่ม ทั้งหนังสือเรียน และหนังสืออ่านเล่น ไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม การ์ตูน นิยาย นิยายแปล... ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนัก

| โปรดทราบ บทความนี้ มีได้ขยายขอบเขตการอ่านไปถึงการดู ฟัง อ่าน ในโลกออนไลน์ นะครับ |

เพราะเมื่อผู้เขียนหันมามองตนเอง แม้จะรักชอบการอ่านมายาวนาน ตั้งแต่จำได้ว่าเคยขโมยหนังสือพี่สาวลูกป้ามาอ่าน ราวตอนเรียนชั้น ป.4 -5 ตกถึงวันนี้ นับได้ สามสิบกว่าปีแล้ว ก็ไม่มีเวลาอ่านมากมายนัก ต้องหลบมุม หลีกวิถีครอบครัว ชุมชน สังคมออกไป กว่าจะได้อ่านหนังสือเต็มคราบเต็มที่ตามใจปรารถนาสักเล่ม...สักครั้ง...

ลอองอุบล 3 | ยุววรรณกรนารีนุกูล อุบลราชธานี และ ฝนฝัน ซีซั่น 4 | ยุวประพันธกร ศ.ก.ว. ศรีสะเกษ

ลองพิจารณาดู ก็เพราะสังคมเรา (อีสานใต้ ศรีสะเกษ-อุบลฯ | ที่อื่นๆ มิอาจรู้ได้) ไม่ใช่สังคมที่ให้คุณค่ากับการอ่านและคนอ่านหนังสือ แม้ว่าผู้ปกครองนักเรียนทั้งหลาย ปากจะพูดว่า อยากให้ลูกอ่านหนังสือ อยากให้ลูกเป็นนักเรียนที่รักการอ่าน แต่พฤติกรรมการส่งเสริม เช่น ซื้อหนังสือให้ลูก พาลูกเข้าร้านหนังสือ เข้าห้องสมุด... ก็มีกันน้อยเต็มที การจัดสรรเวลา มุมน้อยๆ ในบ้านในครอบครัวให้ลูกรักอ่านหนังสือ ก็มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจจะลักษณะ เป็นการเป็นงาน..

สังคมในรั้วโรงเรียนก็เช่นกัน กลุ่มสาระฯภาษาไทยก็ดี งานห้องสมุดโรงเรียนก็ดี ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง ก็ไม่สามารถออกแรงอะไรได้มาก ในเรื่องการกระตุ้นส่งเสริม ในรูปกิจกรรมหรือโครงการใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้อาจเพราะหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. ก็มิได้ปักธงรบจริงจังในเรื่องนี้ แม้จะมีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้มาบ้าง แต่ก็เป็นแค่หนังสือสั่งการ หามีเม็ดเงินหรือหนังสือดีๆ หรือทีมงานวิทยากร... ส่งแนบมาสำหรับจัดกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านถึงตัวเด็กนักเรียนไม่

กล่าวโดยรวมๆ ก็เป็นอันว่า สังคมเราจัดการส่งเสริมการอ่าน แค่ วาทกรรมเท่ๆ เท่านั้น

นี่มิรวมถึง พฤติกรรมของผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ลุงป้าน้าอา พี่ๆ ทั้งหลาย ที่หาตัวจับยากเย็นเต็มที ว่าเป็นนักอ่าน หรือเอาแค่คนสนใจแบ่งเวลาอ่านหนังสือเล่ม พอเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานในเรื่องนี้

นั่นแสดงว่า หนังสือเล่มคือความเป็นอื่นในสังคมเราไหม? 

ผู้ใหญ่ทั้งหลายหรือคนมีการศึกษาที่พอจะเข้าใจ หรือมองเห็นประโยชน์และคุณค่าของการอ่านอย่างจริงจัง แบบว่า เป็นนักอ่านตัวยง จัดบรรยากาศบ้านเรือน เช่น มีหนังสือ มีมุมหนังสือที่น่านั่งอ่าน นอนอ่าน จัดสรรเวลาครอบครัวให้เอื้อต่อการอ่านของสมาชิกในบ้าน จัดกิจกรรมพาไปห้องสมุด... ไปงานเสวนา ไปร้านหนังสือ ไปงานมหกรรมกรรมขายหนังสือ... มีไหม? ถ้ามี มีกี่คนในหนึ่งตำบล หนึ่งอำเภอ และหนึ่งจังหวัด และถ้ามี มีเพราะได้รับโอกาสการปลูกฝังจากครอบครัว แบบรุ่นสู่รุ่น หรือ จากระบบโรงเรียนแบบปีต่อปี ชั่นต่อชั้น หรือ มีเพราะด้วยใจรักอย่างโดดเดี่ยว โดดเดี่ยว เป็นอื่นจากสังคม อย่างน่าสงสาร อย่างน่าสมเพชเวทนา???

อ่านเล่นเติมความสุข อ่านเสริมเติมความงามในชีวิต อ่านกันไหม?

ที่กล่าวมา หากหนังสือยังไม่เป็นอื่นในสังคมเราเสียทีเดียว สาเหตุอาจไม่ใช่แค่ฝั่งผู้อ่านอย่างเดียวใช่ไหม? ที่ไม่อ่าน ไม่แสวงหา แต่อาจเป็นด้วยระบบการส่งเสริมการอ่านของสังคมเราที่อ่อนแอเกิน? หรือกระทั่งอาจเป็นเพราะระบบหนังสือของบ้านเรายังไม่ดีพอ? ไม่มีห้องสมุดดีๆ มากพอ ไม่มีร้านหนังสือดีๆ มากพอ ไม่มีหนังสือดีๆ มากพอ ไม่มีนักเขียนดีๆ มากพอ พอจะดึงดูด โน้มใจคนให้อยากหยิบหนังสือสักเล่มสองเล่ม...ขึ้นมาอ่านกัน

อย่างไรก็ดี สาเหตุหนึ่ง อาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของสังคมบ้านเราก็เป็นได้ สำนึกที่ว่า คนอ่านหรือการอ่านจะต้องเพื่อความดีเลิศประเสริฐศรี มีชั้น มีคลาส มีระดับ ต้องปีนบันไดขึ้นหา อย่างบัณฑิต มกาบัณฑิต ดอกเตอร์ทั้งหลาย หรือต้องอ่านเพื่อเก่ง เพื่อฉลาด เพื่อเจริญทางวิชาการ การงานอาชีพ... พวกนั้นไงเล่าจึงจะสมควรเสียเวลานั่งอ่านคราบหมึกถ่ายทอดตัวหนังสือติดแน่นบนหน้ากระดาษ... หรือไม่?

แล้วการอ่านเพื่อความบันเทิง เติมความสุขสรรค์หรรษา เติมมุมมองชีวิตที่หลากหลาย เติมทัศนคติการมองโลกที่ลึกซึ้ง หรือที่เรียกว่าเติม "สุนทรียภาพ" /ความงามให้แก่ชีวิตเล่า มีตัวตนอยู่ในสังคมเราบ้างหรือเปล่า?

ความบันเทิง ความสุข ความงามที่ว่านี้ มันอาจแตกต่างจากการดูคลิป ดูหนัง ดูละคร ดูข่าว ฟังเพลง ดูการเลื่อนข้อความ ดูโพสต์ ดูสติ๊กเกอร์...ในมือถือ อย่างที่เราสมควรจะเพิ่มทางเลือกให้ชีวิตเราบ้าง ดีไหม?

คำถามนี้ ผู้เขียนถามตัวเองมานาน และมีคำตอบชัดเจนแล้ว ...ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเห็น หรือตอบคำถามตนเองอย่างไรบ้างหนอ

-----------------------------------------

| ผู้เขียน : ธีรยุทธ บุษบงค์ | ครูสอนภาษาและวรรณกรรม. นารีนุกูล, อุบลราชธานี. |



งานสบตาความจริง

สังเกตตนเองว่า ยังตามทันความคิด แม้ไม่ถึงขั้นคิดปั๊บรู้ปั๊บ แต่ก็พอจะรู้เมื่อมันคิด

อยากจะบอกว่า ความจริงตรงหน้าคือทุกขณะจิต จิตมันคิด มันปรุง รัก ชอบ ชัง เกลียด อยาก ไม่อยาก เผลอ ไม่เผลอ นิ่ง หรือสับส่าย....

มันสนุกมิใช่น้อย เหมือนเกมตามนาง นางคือความคิด เปรียบเราเป็นหนุ่มมีแฟน แฟนหาย เราตามหา เห็น ไม่เห็น ชัด ไม่ชัด หลงทาง หรือมาถูกทาง

ถ้ามันคิด เรารู้มัน มันเปลี่ยน มันหายหน้า มันไม่ไปต่อ แต่ดูเถอะ อย่าเผลอ เดี๋ยวมันก็คิดอีก อย่าเผลอเชียว ดูมันไว้ จองดูมันไว้


วันใด ยามใด ใจเราสบาย นิ่งดี สงบดี
วันนั้น ความคิดจะเบาบาง คือ มันไม่คิด ความคิดมันนอน มันพักผ่อน มันไม่ทำงาน
แต่ไม่ใช่มันตาย เดี๋ยวมันจะมา มาแน่
วันเช่นนี้ อย่าประมาทเชียว ดูมันไว่ จ้องหน้ามันไว้

จะวัดกันว่าจิตใจใครแน่ จิตใจใครสงบเย็นดี มั่นคงดีมีสติพร้อม ต้องดูวันที่ความคิดมันทำงาน คิดนั่นนี่ ไม่เลิก คิดทุกเวลานาที
วันนี้แหละวันศึกษา วันเข้าโรงเรียน...

สังเกตกันนะ สังเกตดูดีๆ


วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565

คนท่อคน คู่ทางคนแท้

• คนท่อคน คู่ทางคนแท้ •

นาบ่าวหนึ่งว่า
"ดินทรายร่วนเหนียวฮอดหิน ท่อกัน
หญ้าบั่วหญ้าหวายฮอดข้าว ท่อกัน
กกไม้ใหญ่น้อย ท่อกัน
สายลมแสงแดด ท่อกัน
ตาเว็น จัน ดาว ท่อกัน

นาสาวหนึ่งว่า
ฮักกับรัก ท่อกัน
ซังกับชัง ท่อกัน
คึดฮอดกับคิดถึง ท่อกัน
คะนิงนำกับห่วงใย ท่อกัน

อาวหนึ่งว่า
หลวงปู่กับผีบ้าแบกถุงปุ๋ยนอนข้างทาง ท่อกัน
พ่อค้ากับพ่อนา ท่อกัน
เครื่องบินกับรถไถนา ท่อกัน
ตึกฮ้อยชั้นกับเถียงนา ท่อกัน
ทางสูงก่ายเกี้ยวฮอดมุดโพ่งกับทางดินทรายไปนา ท่อกัน
โพนผักแนวกับโพนผักกู้ขาย ท่อกัน

อาหนึ่งว่า
สาวหมอลำกับย่ายายหมอลำ ท่อกัน
ลำเพลินกับลำล่อง ท่อกัน
แม่ออกกับแม่ชี ท่อกัน
แม่ครัวในงานศพกับพ่อบ้านประธานเมือง ท่อกัน
แม่เมียกับแม่ตัว ท่อกัน
นาท่งกับนาตีนบ้าน ท่อกัน
ข้าวเม่ากับข้าวหลาม ท่อกัน
แม่ฮ่างกับสาวโสด ท่อกัน

ลุงหนึ่งว่า
โตธรรมกับโตไทน้อย ท่อกัน
นักเทศน์กับนักภาวนา ท่อกัน
คนนากับคนเมือง ท่อกัน
ปริญญากับข้าวกล้า ท่อกัน
ลูกเขยกับลูกเลี้ยง ท่อกัน
ลูกใภ้กับลูกสาว ท่อกัน
ใบลานกับฮูปแต้ม ท่อกัน
มดแดงกับงัวควาย ท่อกัน
ปลาข่อใหญ่กับปลาซิวปลาส้อย ท่อกัน

ป้าหนึ่งว่า
ฮอยยักษ์กับฮอยยิ้ม ท่อกัน
ไหมขี้โป้กับไหมน้อย ท่อกัน
แพรฝ้ายกับแพรไหม ท่อกัน
ทางเครือกับทางต่ำ ท่อกัน
ผ้าฮีม่อนกับผ้าซิ่นต่ง ท่อกัน
ย่ากับแม่ ท่อกัน
ปู่กับพ่อ ท่อกัน
แม่ใหญ่กับพ่อใหญ่ ท่อกัน

นกนาหนึ่งว่า
กับข้าวกับข้าวในก่อง ท่อกัน
ข้าวเปียกกับข้าวสาร ท่อกัน
ข้าวจ้าวกับข้าวเหนียว ท่อกัน
ข้าวนาห้วยกับนาโคก ท่อกัน
ข้าวใหม่กับข้าวเก่า ท่อกัน

ข่อยเลยว่า
คนกับคน ท่อกัน
คนมักโลภกับคนป่วงบ้าบ่พอปัว ท่อกัน
คนบ่พอกับคนย่านอำนาจเซียม ท่อกัน
คนสั่งการกับคนยิงคน ท่อกัน
คนถิ่มระเบิดกับคนรอฟังผลสั่งการ ท่อกัน

แต่....
ข่อยอยากฮู่คือกันว่าคนซุมนี่
คือทำท่าลืมปานหมู่บ่ช่วยหมู่ตกน้ำสามสี่มื้อค่อยตื่นค่อยท้วงนั่นตี้
คนซุมนี่คือบ่ย่านเจ้าของเจ็บปวดป่วยเข็ญทุกข์ทรมานคือคนอื่น
คนซุมนี่คือบ่เป็นคน
คนบ่เป็นคนแม่นบ่ซุมนี่
คนท่อคน ใช้กับคนซุมนี่บ่ได้แหลว

โพดฮ่ายเหมิดความสิป้อย

ซุมแซงเซื่อสัตว์นรกมาเกิด
เกิดใหญ่แล้วสัตว์สาวาสิ่งย่าน
เห็นแล้วกะแล่นหนี

.......
บ่าวทิ BaawThi
ขอประณามคนบ้าอำนาจ
ขอสาปส่งคนก่อสงครามทุกรูปแบบ
ทั้งเบื้องหลังเบื้องหน้าสู่ก้ำฝ่าย
และพร้อมกันนี่
ขอส่งกุศลความดีงามของผุข่า
ไปโฮมฮ่วมกับความดีงามของผู้คนในโลกหล้าจักรวาล 
เพื่อไปฮักษาชูช่วยเป็นแฮงใจแฮงกายแฮงความคิดอ่าน
และเปิดป่องหนีภัยสงครามทั้งหลาย
ให้ทุกคนทุกหม่องบ่อนพ้นผ่านมันไปได้
โดยปลอดภัยในเร็ววันด้วย เทอญ

วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ทำไมไม่เป็นครู ทั้งที่สอนหนังสือมา 27 ปี l คำเล่า คน

แค่สอนใจตัวเองยังพลาดพลั้ง

เป็นต้นแบบหรือก็ไม่ควร

ทำได้เท่าที่เป็น

เก่งก็ไม่

กล้าหาญก็เปล่า

รู้พอได้คิดอ่านบางมุม

ทำประโยชน์ตนยังไม่พอ





วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2565

ขัวคำ | แนวรบ

#ขัวคำสะพานความ

แนวรบด้านใน
คุกรุ่นพร้อมระเบิด
ปานลูกโป่งสีแดงกลางทางทรายยามบ่ายสอง
พิงอิงกิ่งเล็บแมวหนามแหลม
รอเพียงลมพัดสะกิด

แนวรบด้านนอก
ร้อนระรัวเริงเปลว
ดังกองไฟลุกโชนข้างโรงเก็บถังแก๊ส
ไม่ไกลปั๊มน้ำมัน
รอเพียงลมพัดสะกิด

แนวรบรอบด้าน
อุณหภูมิกว่า 100 องศาเซลเซียส
ปานใจกลางบั้งไฟล้านพุ่งทะยานแหวกห้วงทะลวงฟ้า
ไม่ใกล้ไม่ไกลหัวเข่า
รอเพียงลมปากด้อยค่า

|ทางหอม||

ความคุ้นเคย

 หนังสืออีบุ๊ค ใครจะอ่าน ก็ทำแล้วครับ  ใครสนใจอ่าน ก็เชิญชวนไปหาจับจอง แตะที่ชื่อหนังสือด้านล่างนี้ได้เลยครับ คือคุ้นแก่นกัน บทกวีรวมเล่มของ...