ฅนกับหนังสือ
โดย ธีรยุทธ บุษบงค์
ก่อนที่จะมองภาพกว้างของ "ฅนกับหนังสือ" อันได้แก่ ฅนเขียน ฅนทำ ฅนขาย ฅนซื้อ ฅนอ่าน ฅนเก็บรักษา ฅนทำลายทิ้ง ข้าฯ ขอเล่าเกี่ยวกับชีวิตของตนกับหนังสือสักหน่อย
หนังสือ เมื่อแรกรู้จัก ข้าฯ ได้สัมผัสประเภทตำราเรียนภาษาไทย ชุด มานีมานะปิติชูใจ และหนังสือเรียนเล่มอื่น ๆ ทั้งห้ากลุ่มของหลักสูตรการเรียนยุคนั้น (ข้าฯ เรียนประถมศึกษา ช่วงปี 2524-2529)
ชั่วโมงการอ่านครั้งหนึ่ง น่าจะกำลังเรียนชั้น ป.6 ครูให้เข้าห้องสมุด เป็นห้องเปล่า มีชั้นหนังสือเล็ก ๆ และหนังสือบริจาคจากเมืองใหญ่ไม่กี่สิบเล่ม และเล่มที่ข้าฯ หยิบมาอ่านเป็นปกบ้านหลังคาทรงจั่วสูง มีเครือเถาว์ดอกไม้อวดดอกสวยสดุดตา ชายคาจรดสนามหญ้าเขียวขจี จากบ้านที่เด่นหราเกือบเต็มปก มองลึกเข้าไปยังเห็นที่เหมือนกันอีกหลายหลัง เรียงรายกันอยู่ นั่นคือหนังสือวารสารท่องเที่ยว นับเป็นหนังสือประเภทที่สองในชีวิตของเด็กน้อยบ้านนา
จากนั้นค่อขยับ มาอ่านนิยายภาพไทยเล่มละบาท ที่วางให้หยิบอ่าน รอคิวตัดผม ในร้านตัดผมประจำหมู่บ้าน
ข้าฯ ได้รู้จักหนังสือหลากหลายประเภทมากขึ้น ก็ตอนเรียนมัธยมปลาย เริ่มจากการเป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ได้จัดหนังสือขึ้นชั้น ได้ประทับตราให้ยืม-ส่งหนังสือ รวมถึงได้เรียนวิชา การศึกษาค้นคว้าเบื้องต้น ที่เน้นการจำแนกหนังสือเป็นหมดหมู่แบบดิวอี้
ข้าฯ ทำความเข้าใจจนคุ้นเคยกับหมวดหมู่หนังสือที่เรียน จากการได้อ่าน ได้ดู ได้จัดหนังสือทุกหมวด ในเวลาที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ห้องสมุด และตอนกลางคืนหลังภารกิจส่วนตัว
เรา หมายถึง ข้าฯ กับพี่ เพื่อน และน้อง ที่พักอยู่ในห้องพักสำหรับเด็กบ้านไกล จะไปนอนในห้องสมุดกัน เข้าไปดูแลจัดการงานห้องสมุดที่ยังค้างอยู่ อาจเป็นงานลงทะเบียนหนังสือ ซ่อมหนังสือ และจัดหนังสือขึ้นชั้น หากไม่มีงาน เราก็เลือกมุมส่วนตัวหาความบันเทิงจากหนังสือที่ชอบ
หนังสือในห้องสมุด คือสมบัติของเรา
เรารื่นเริงบันเทิงใจในโลกหนังสือ เพราะยุคนั้น (2531-2534) ทีวีไม่มี มือถือยังไม่เกิด นาน ๆ ทีปีละหนจึงจะได้ยลหนังกลางแปลงและหมอลำหมู่
นั่น นับเป็นความโชคดีเหลือหลาย
ข้าฯ ร้องไห้กับตัวเอกในนิยาย "ครูบ้านนอก" ของครูคำหมาน คนไค ฉุกคิดกับบทกวีกลอนเปล่าเล่มบาง ๆ ที่จำชื่อเล่มกับผู้แต่งไม่ได้ รื่นรมย์กับขบวนอักษรอีกหลายต่อหลายเล่ม ที่ต่างไปจากหนังสือตำราเรียน
ตอนนั้นยังไม่คุ้นกับคำ วรรณกรรม ดอก รู้แต่ว่า เป็นหนังสือ อยากอ่านเล่มไหนก็หยิบอ่าน
พอเข้าเรียนวิทยาลัยครู หอสมุดคือหอพักทางใจ โลกการอ่านของข้าฯ จึงขยายพื้นที่กว้างขวางออกไปอีกโข
จากหอสมุด ก็เลยเลยไปร้านหนังสือ และจนสมัครสมาชิกวารสาร "ไรเตอร์"
เรื่องราวชีวิตข้าฯกับหนังสือ เอาไว้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวผู้อ่านจะโวย ว่าไม่เข้าเรื่องสักที
ฅนกับหนังสือทั้งเจ็ด ตามที่เกริ่นไว้ ในที่นี้เราหมายเอาเฉพาะหนังสือเล่มกระดาษได้แก่ ฅนเขียน ฅนทำ ฅนขาย ฅนซื้อ ฅนอ่าน ฅนเก็บรักษา ฅนทำลายทิ้ง ขอขยายความสักนิดว่า
ฅนเขียน คือคนคิดและแปลงความคิดออกมาเป็นตัวอักษรเพื่อให้คนอื่นอ่าน
ฅนทำ คือคนที่เอางานเขียนของฅนเขียนมาดำเนินการตามกระบวนการ จนพิมพ์หนังสือออมาเป็นเล่ม
ฅนขาย คือคนนำหนังสือไปสู่มือฅนซื้อฅนอ่าน คำ ขาย อาจเอาหนังสือไปแลกเงินจริง ๆ หรืออาจเอาหนังสือไปโฆษณาให้คนนำไปเผยแพร่นำไปอ่าน
ฅนซื้อกับฅนอ่าน คือฅนที่รับหนังสือมาจากฅนขาย โดยการใช้เงินใช้สิ่งของแลกเปลี่ยน แน่ล่ะฅนซื้อที่แค่ซื้อก็น่าจะได้อ่านปกอ่านสารบัญเป็นอย่างน้อย ค่อยส่งต่อให้ฅนอ่านจริง ๆ อีกที ฅนอ่านจริง ๆ ก็คือฅนที่เปิดหนังสือและท่องไปในขบวนอักษร อ่านไปจนพอใจ หรือจนจบเล่ม จะอ่านเพื่อการใดก็แล้วแต่ เมือเขาลงมืออ่าน เขาย่อมคือฅนอ่านหนังสือแล้ว
ฅนเก็บรักษา อาจเป็นเจ้าของหนังสือเที่อาจเก็บหนังสือไว้ในตู้ ในกล่อง ในชั้น ในห้อง หรือบางทีเขาอาจมีห้องหนังสือเป็นการเฉพาะ รวมถึงอาจเป็นผู้ดูแลหนังสือในห้องสมุดต่าง ๆ ด้วย
สุดท้ายคือ ฅนทำลายหนังสือทิ้งไป จะโดยการนำหนังสือไปเผาไฟ จะโยนลงแม่น้ำ จะฉีก ตัด ปั่นทิ้ง ก็แล้วแต่ หรือจะขายให้คนซื้อของเก่าเอาไปส่งโรงงานรีไซเคิล ก็ล้วนแล้วแต่คือฅนทำลายหนังสือทิ้งทั้งนั้น
นี่คือการมองภาพกว้างเกี่ยวกับฅนกับหนังสือ ที่อยากบอกเล่าสู่กันฟัง แล้วค่อยคุยกันอีกในโอกาสต่อไป.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น