วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 10 โดย ทางหอม

บทที่ ๑๐ ส่างฮ่าง
เขาพิงจักรยานไว้โคนต้นสะแบง ขึ้นบันไดห้างไม้มันปลา มาถึงข้างบน มองหากะปอมก่าอย่างไรก็ไม่เห็น จึงลงมาเดินย่ำไปบนพรมใบสะแบงปนดอกสะแบงที่ร่วงรายรอบโคนต้นกินรัศมีตามขนาดทรงพุ่ม ผ่านไปยังหลังกระท่อม มองหาเพื่อน
        “เจ่าอยู่ไส กะปอมก่าเอย” เขาตะโกนไป มองหาตามกิ่งติ้ว ตามกกลำดวน และกกหว้า            “อยู่ไส อยู่ไส หมู่”
        ข้ามโพนน้อยที่รกเรื้อ แต่ก่อนเคยเป็นแปลงปลูกหอม กระเทียม พริก บักเขือผ่อย ผักชี ฟักทอง แตงกวา ผักอีตู่ หัวระพา ถั่วปี บักเขื่อเทศ และหมากแข้ง “ข้อยมาแล้วเดหมู่ อยากผ้อเจ้าเดอ มีหนังสือมาอ่านให้ฟัง” เขาตะโกนต่อ “ไปไสนอ รึแม่นมีผุมายิงเจ้าไปปิงก้อยใส่บักม่วงแล้วบ้อ” เขารำพึงถึงเพื่อน
         “ส่อยแหน่ ๆ” เสียงดังทึบๆ มาจากที่ใด๋ เขาคิด มองหาต้นทางของเสียง “ข่อยอยู่ผี้ ในส่าง” เสียงเดิมดังมาอีก
        ข่อหล่อสาวเท้ามายังต้ายโพนตรงไปห้าก้าว หญ้าขึ้นเป็นรูปวงกลมคลุมปากส่างหรือบ่อขุดด้วยมือ เขาก้มลงใช้มือแหวกกอหญ้าออก ส่องลงไปยังก้นบ่อ สายตาค่อยๆ ปรับโฟกัส มองลงไปเห็นเด็กหนุ่มสวมชุดวอร์มที่มีตราสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษปักอยู่ตรงอกซ้าย
เขายืนอยู่ก้นส่าง มีกะปอมก่าเกาะอยู่ตรงไหล่ขวาในมือซ้ายถือหนังสือปกแข็งเล่มหนึ่ง 
“อ้าว เจ้าแม่นใผ ลงไปเฮ็ดหยังล่ะนี่”
“ข่อยมาตามหากะปอมก่า เพราะบ่เห็นหลายมื้อ เลยตกลงส่งฮ่างนี่ล่ะ”
“เอ มาคือฉากบ่อน้ำในเรื่อง ผมไม่กลัว ของ นิกโกโล อัมมานิติ นักเขียนชาวอิตาลี แท้ล่ะฮึ”
“ส่อยข่อยขึ้นไปก่อนแหน่ ค่อยคุยกันได้บ่”
“เออ ๆ ได้ ๆ ท่าจักหน่อย”
          เขาแบกกิ่งสะแบงแห้งเท่าขาแข้ง ยาวกว่าสามวาผู้ใหญ่ ค่อยๆ เอียงกิ่งไม้จากไหล่ขวาหย่อนลงไปก้นส่างจนสุด ปลายกิ่งเสมอกับขอบส่างพอดี “อ้าว ปีนขึ้นมาเลย” เด็กหนุ่มก้าวเหยียบกิ่งไม้ปีนขึ้นมา ก่อนจะถึงขอบส่าง ยื่นหนังสือมาให้ข่อหล่อถือ ใช้มือกำหญ้าที่ขอบบ่อส่างดึงตัวขึ้นมาได้สำเร็จ กะปอมก่ายังเกาะนิ่งอยู่บนไหล่ และทันทีที่เด็กหนุ่มยืนทรงตัวตรงได้ มันก็กระโดดไปเกาะบนไหล่ข่อหล่อแทน
เด็กหนุ่มใช้มือปัดเศษดินเศษหญ้าออกจากหน้าและทั่วตัว “ขอบคุณหลาย”
“บ่เป็นหยังดอก อืมมม...เจ้าคือสิแม่นน้องข่อยหลายปียุน้อ อ้ายชื่อข่อหล่อนะ”
“ข่อยฮู้จักเจ้าอยู่ จากหนังสือทำมือในกระท่อมล่ะ ขอโทษนำที่เข้าไปอ่านหนังสือโดยบ่ได้ขอบ่ได้บอกกล่าวสาก่อน กะบ่มีคนให้บอก ฮะฮ่า”
“บ่เป็นหยังดอก ปะ ไปคุยกันเทิงห้างไม้มันปาพู้น”
ข่อหล่อก้าวนำเด็กหนุ่มไป ปากก็ถามข่าวกะปอมก่า เพื่อนที่จากกันตั้งห้าปีแล้ว.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------



บ่มียาง



ราก เน่าๆ
โคน ผุๆ
กก กลวงๆ
กิ่งบ่มีก้าน บ่มีใบ
ควรเรียกสิ่งใด

ข่อยเอย 
ข้าแห่งงานในนาดิจิตอลสูงส่ง
ทาสของสวนออนไลน์ศักดิ์สิทธิ์
ยังกราบไหว้บูชาเกียรติศักดิ์อมตะ
โคลน หญ้า ฟาง ควายนา รอยตีนทั้งสิบนิ้ว
โชยไกลเหงื่อบำรุงรัก

ในม่านหมอกสาบสางของซากศพ
ล้ำคำปดประหลาดประโคมก้อง
ในชุดประดับยศยิ่ง
คล้ายรีทวิตวินาทีนิรันดร์สังวาสโมงยามพิการพิกล
มิภาคภูมิชวนหลิงแลแม้ลมหายใจตัวเองสักเสี้ยวลิ้นมดแดงดิน
กลับบอดใบ้ถึงแก่นแกนยุงยางสัก...
ขณะร่ายล้อมด้วยลิ่วล้อไอโอนับพัน

กวีหนุ่มเจ้ารู้ดี ใช่ไหมเล่า 
เจ้ารู้ทะลุทรงพุ่ม เปลือก กระพี้ เนื้อ จนสิ้นแก่นแกน
ยอมร่ำไห้สุดเสียง ขณะมือทั้งสองกำหมัดแน่นสั่นสะทก
มิรู้ได้ว่า คำก่นด่าประณามหยามเย้ยไยไพใดๆ

จักอยู่ ณ ทิพย์พิมานสูงกี่ชั้น
ปลดเปลื้องปล่อยจากคุกมหาวิบัติตระบัดสัตย์กี่ชาติกี่ภพ
จึงจะสาสม
กับซาตานอเวจีผีเปรตพันปีมาเกิดมาก่อการณ์คล้ยโควิดระบาด
หมู่หนึ่งน้อยนั้นได้

|ทางหอม|
พุธ 2 ธันวา 2563


วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ผู้ยิ้มแย้ม

ผู้ยิ้มแย้ม

วันเสาร์แสนเบาโล่ง
คันนาสีดอกหญ้า
กลับมาเป็นชาวนา
ในวัยสี่สิบ

เธอยิ้มรับขวัญ
ไม่ประจบสายตา
ไม่โหยหาของฝาก

พจนาของทุ่งกว้าง
ประกาศสดุดีสมถะ
'ใดไม่สมควร'
ขณะเท้าทั้งคู่หยุดสดับ

ราคากี่บาท
เธอไม่เคยทวงถาม
นางแบบไร้นาม
ขึ้นกล้อง
เป็นไฟล์แบ่งปันทั่วหล้า

ประทับรอยไว้ลึก
ประหนึ่งใครสักคน
คราสบตาคนรัก

|ทางหอม|
อ. 5 พ.ย. 2556


เล่าตามคำแต้ม


















วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 9 โดย ทางหอม

บทที่ ๙  ฝันประหลาด

บ้านหลังใหญ่ กำลังมีงาน มีสาวๆ แต่งชุดไหมสีนวลเป็นโหล พร้อมกับแขกเหรื่อเต็มลานหญ้าข้างบ้านสวน เขากำลังเข้าพิธีแต่งงานกัน ธรรมดาจะต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เขาอยู่ในนั้นแต่งชุดสูทสีเงิน นั่งเคียงข้างเจ้าบ่าวที่แต่งชุดสูทขาวสะอ้าน มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ 

พอหมอพราหมณ์ร่ายคำจบลง พิธีกรก็เชิญญาติผู้ใหญ่ ผูกแขนคู่บ่าวสาว และเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เงินแบงค์ร้อย 100 500 1,000 ในอ้อมกอดฝ้ายสีขาวคาดเหลืองขมิ้น ทยอยผูกหุ้มข้อมือคู่บ่าวสาว จนเป็นพุ่มคล้ายกำไรข้อมืออันใหญ่หนา เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็พลอยได้รับกำไลข้อมือฝ้ายกอดเงินแบงก์อย่างนั้นด้วย แม้ว่าความใหญ่และหนาของกำไลจะน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็อดยิ้มไม่ได้ 

ตัดฉาก วูบวาบที่ภาพถัดไป เขาไปนั่งเคียงคู่เพื่อนเจ้าสาว ที่แคร่ไม้ไผ่ ใต้ถุนบ้านอีกหลังหนึ่ง ห่างออกไปสักสี่ห้าหลัง ยังได้ยินเสียงเพลงลูกทุ่งหมอลำขับกล่อมคนในงาน ตอนนี้เจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นปรากฏตัวบนเวทีที่หันสู่สวนผลไม้พื้นบ้านนานา สักพัก พิธีกรก็ได้เวลาสัมภาษณ์ เกี่ยวกับนิยายรักของทั้งคู่ อีกไม่นาน ทั้งคู่ก็จะลงจากเวทีเพื่อพบปะถ่ายภาพร่วมกับแขกที่ให้เกียรติมาร่วมงานซึ่งนั่งประจำโต๊ะจีน กว่าจะครบทุกโต๊ะ ก็คงใช้เวลาเกือบชั่วโมงทีเดียว เขากับเธอนั่งเคียงข้างกัน หย่อนขา สายตามองไปตามถนนดินแดงลูกรังจากงบ อบต. ปนดินทรายประจำถิ่น ที่เบื้องซ้ายเป็นป่ากล้วยและสวนหอมกระเทียม เบื้องขวาเป็นแนวรั้วไม้ไผ่ มีบ้านปลูกอยู่เป็นระยะทอดยาวไปจนถึงถนนดำ ทั้งสองสบตาแล้วหันกลับไปมองถนน บทสนทนาเงียบดำเนินไป รอยยิ้มที่มุมปากเป็นผลจากความรู้สึกข้างใน เขาและเธอเพิ่งพบกันวันนี้แต่ต่างรู้สึกว่า เหมือนเคยรู้จักกันมานานแสนนาน แล้วภาพก็เบลอค่อยๆ เลือนหายไป... 

ข่อหล่องัวเงีย หันมองไปรอบๆ หน้าจอมือถือเครื่องเท่าใบพะยอมหนุ่มสาวบอกเวลาบ่าย 3 โมง เขาฟุบหลับในหอสมุดมหาวิทยาลัยไปนานแค่ไหน เขาฝันไปหรือนี่ มือขวาวางทับหนังสือ โมนผจญโลก ของ อาแล็ง ฟูร์นิแยร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส ความฝันของเขา พ้องกับฉากหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้ อืมมม...บทที่ 13 งานประหลาด ที่โมนเผอิญเดินทางไกลไปได้ร่วมงาน ได้พบสาว และเก็บมาฝัน เมื่อเขากลับมาที่โรงเรียนกินนอนแล้ว ก็วางแผนจะกลับไปที่นั่นอีก 

ข่อหล่อตั้งใจจะอ่านนวนิยายปกแข็งสีม่วงเล่มย่อมๆ นี้ ให้จบภายในวันหยุดเรียนเสาร์อาทิตย์พร้อมแผนการจะกลับไปอ่านให้กะปอมก่าฟังในช่วงปิดเทอมหน้าแล้งที่จะถึงนี้

---



วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 8 โดย ทางหอม

บทที่ ๘  เพื่อนคนใหม่

หลังจากข่อหล่อจากกะปอมก่าไปเรียนในเมืองสามปี

เด็กหนุ่มบางคนเทียวมาที่ห้างไม้มันปลา แล้วหายไปทีละคนๆ

เด็กหนุ่มบางคนหยุดมองกระท่อมหนังสือแล้วจากไป ไม่กลับมาอีกเลย บางคนกลับมาเล่นห้างครั้งสองครั้ง แล้วจากไป กระท่อมหนังสือได้แต่รอใครสักคน

วันหนึ่งกลางเดือนธันวาคม ใบสะแบงเก่ากำลังทยอยหล่นห่มโคนต้นและแผ่นดินแม่ มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมามุดหน้าต่างเข้าไปในกระท่อมหนังสือ และขลุกอยู่ทั้งวัน เหตุการณ์นี้ทั้งหมดอยู่ในสายตาของกะปอมก่า

เขาคนนั้นแวะมาที่นี่อีกหลายวัน แล้วก็หายไปเป็นสัปดาห์ 

วันนี้วันเสาร์ เขากลับมาแต่เช้า ลมหนาวพัดเย็นสบาย หอมกลิ่นใบไม้แห้งเจืออายดินชื้นหมอก หลังมุดเข้ากระท่อมแล้วเขาขึ้นมาบนห้างไม้มันปลา ไม่พูดพร่ำทำเพลง นั่งลงอ่านหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งที่ปกเป็นรูปวาดแมวดำตัวใหญ่ถือลูกแอปเปิ้ลสีแดง มีนกนางนวลตัวน้อยขนสีขาวจับอยู่ตรงปลายจมูกแมวอ้วนตัวนั้น

แน่นอน หนังสือเล่มนี้ข่อหล่อเคยอ่านให้กะปอมก่าฟังสองหรือสามเที่ยว จำไม่ชัดนัก

ชื่อเล่มกะปอมก่าจำได้  นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน  ผู้แต่ง หลุยส์ เซปุลเบดา นักเขียนชาวชิลีผู้น่ารัก เขียนเรื่องเด็กได้ประทับใจ

เด็กหนุ่มอ่านหนังสือไป อมยิ้มไป ชุดวอร์มสีเทาขับให้เขาดูเคร่งขรึมขึ้น

กะปอมก่ายังนอนอยู่บนราวห้าง มองดูเขา

แอบคึดถึงข่อหล่อ ป่านนี้จะผจญภัยในเมืองอย่างไรเล่าหนอ

หลังจากข่อหล่อจากกะปอมก่าไปเรียนในเมืองสามปี เด็กหนุ่มคนหนึ่งเทียวมาที่ห้างไม้มันปลาและกระท่อมหนังสือ วันแล้ววันเล่า...

---





วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 7 โดย ทางหอม

บทที่ ๗  หมู่ดวงดาว

“ดาวสวยมากครับอ้าย คืนนี้” ข่อหล่อเปิดเรื่อง
“เหงารึ คิดฮอดบ้านสินะ” ฮอย ฮิมมูนถาม
“ว่าจะไม่คิด”
“ธรรมดา สมัยอ้ายไปต่างที่ก็เป็น”
“ไปไสแหน่อ้าย ไกลบ่”
“ไปวังเวียง เมืองเล็กงามธรรมชาติ อยู่กึ่งกลางระหว่างทางจากเวียงจันทร์ไปหลวงพระบาง  อ้ายไปเฮ็ดงานวิจัยเกี่ยวแก่ธรรมชาติท่งท่าในวรรณกรรมลาวหลังสมัยใหม่ ไปอยู่เกือบแปดเดือน ว่าแม่นไปใช้ชีวิตแบบบ้านๆ สมัยเฮายังเป็นเด็กน้อย ใชีชีวิตในธรรมชาติป่าเขา สายน้ำลำธาร และวิถีญาติพี่น้องเก่าแก่ อยู่นั่นแล้วมีความสุข บ่ต้องคิดหยังหลาย แต่ความขัดแย้งมันก็มี อย่าว่าแต่ความขัดแย้งกับผู้อื่น หรือระหว่างแนวความคิดคนเฮา ที่ย่อมแตกต่าง ไอ้ความขัดแย้งในใจนี่ล่ะโตการใหญ่ มันมี มันแย้ง มันต่อสู้กันหลายกว่าความขัดแย้งระหว่างคนกับคนหมู่ใดๆ”
“เป็นจังใด๋นอครับ ผมคือบ่เข้าใจ” ข่อหล่อจ้องตาคนเล่า
“ประมาณว่า ชีวิตที่มีเป้าหมายแต่ต้องแลก กราฟชีวิตขาลงที่เป็นพ่อหม้ายอยู่แล้ว มันกะคือดิ่งลงไปบ่ยอมเงยขึ้น พอคึดฮอดเมียที่ตายไป นี่เฮามุมานะทำงานจนลืมดูแลคนที่ฮักเฮา จนวาระสุดท้ายของคนฮักเฮาถึงได้ลงมือลงใจดูแลกัน แต่นั่นล่ะ มันเหมือนสายเกินไป แต่เฮากะต้องใช้งานตัวเดียวกันนี่ล่ะ รักษาหัวใจที่เศร้าเหงาท้อหม่น จนแทบจะละลายระเหยหายสูญไปกับวันเวลา เออ...น้องเคยอ่าน เรื่องเล่าจากดาวดวงหนึ่ง ของ  พิษณุ ศุภ. บ่ บทบรรยายตอนตัวละครพ่อตายลง นั่นแหละประมาณนั่นแหละ” 
“เคยอ่านยุครับ แต่...อืม...ผมกะบ่คิดว่าเข้าใจ อยู่ดี” 
“เรื่องนั้น เป็นความขัดแย้ง ของคนสองคน จนต้องแบ่งดาวคนละครึ่ง แหม่นบ่ การทำงาน บ่ว่าอยู่ไส ก็มีปัญหา แม้ว่า บ่มีปัญหากับคน ก็อาจจะมีปัญหากับความคิด วิธีการ หรือบ่กะธรรมชาติ แต่ที่สุด เฮาก็ต้องพิจารณา ว่าเฮาจะอยู่ เพื่อหยัง เพื่อความถูกต้อง เป็นธรรม ของใผ ในระดับใด แล้วเฮาอยากได้อิหยังที่สุด เฮาก็ต้องพิจารณา ชั่งน้ำหนัก ถ้าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ควรจะเลือกหรือบ่ มันก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของเฮาเอง ที่ต้องลุกขึ้น ยืนหยัดเพื่อมัน หรือเจ้าว่าใด๋” 

บักข่อหล่อฟังแล้ว คึดอ่าน... เหมือนกำลังจะเข้าใจบ้าง แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของคำเว่าของอ้ายลาว มันหมายถึงหยังแหน่นอ อีหลีแล้ว คนเฮาต้องเลือกความเป็นธรรมที่ถูกต้อง เป็นคุณเป็นค่าทั้งต่อโตเองและส่วนรวม... อย่างนั่น ใช่ไหม 

ดวงจันทร์ค่อยโผล่พ้นทิวไม้และหลังคาบ้านจัดสรร ทอแสงนวลอาบใบหน้าด้านขวาของคนทั้งคู่ที่มองไปยังผืนน้ำในห้วยวังนอง สายลมหนาวปลายเดือนธันวาคมโชยพัด หอมกลิ่นแปลงผักบั่วผักเทียมปนอีตู่และกะแยงของไทบ้าน มาจากที่ไหนสักแห่งไม่ไกล มันทำให้เขาก็อดคิดถึงเพื่อนกะปอมก่าไม่ได้ 

เอาล่ะเขาควรบอกอ้ายฮอย ฮิมมูน ดีไหมว่า เขาเขียนร่างนวนิยายเยาวชนไว้เรื่องหนึ่ง อยากถามพี่ว่า ควรขัดเกลาแล้วส่งไปวารสารประจำเมืองไหม เห็นมีคอลัมน์นวนิยายสั้น ไม่จำกัดแนว แต่ดูเหมือนอ้ายลาวจะรับรู้ได้ด้วยพลังบางอย่าง เพิ่นจึงพูดขึ้นว่า “คั่นเจ้าสิส่ง ไปวารสาร อ้ายว่า เอามาเฮ็ดเป็นตอนลงเว็บบล็อก แล้วอ่านทำคลิปลงยูทูบ ลงเพจ กันเอง เจ้าว่าสิดีกว่าบ่ เขาว่า เมื่อเกิดมีโฆษณาขึ้น แล้วเราจะมีรายได้ ว่าซั่นนะ” 

แล้วคำปรึกษา คำแนะนำ คำถาม คำตอบ การวางแผนทำคอนเทนต์นวนิยายสั้นลงออนไลน์ของทั้งคู่ ก็ไหลเรื่อยคล้ายสายลมเย็นโชยสบาย พาหมอกเหมยลอยเวี่ยเรี่ยเหนือผืนแผ่นน้ำใสของห้วยวังนอง ลอยไป ลอยไป ไกลแสนไกล ราวหมู่นกเสรีเริงร่าโบกบินไปยังหมู่ดวงดาวพราวระยิบเหนือเส้นขอบฟ้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปถึงที่นั้น ณ โมงยามใดของชีวิต

---



วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 6 โดย ทางหอม

บทที่ ๖  บทสัมภาษณ์รุ่นพี่

ข่อหล่ออาสาเข้าทำงานเป็นกองบรรณาธิการวารสารโรงเรียน จากการชักชวนของรุ่นพี่ที่ได้อ่านบทกวีของเขาในวารสารประจำเมือง

งานแรกในฐานะกองบรรณาธิการวารสาร “หายโศก” ท้าทายและสนุกไม่น้อย 

ข้างล่างนี้ก็คือ ผลงานการสัมภาษณ์รุ่นพี่ศิษย์เก่าของโรงเรียน ผู้เป็นนักเขียนดีเด่นประจำปีของวารสาร เมืองฮิมมูน 

...

เรื่องจากปก

ฮอย ฮิมมูน กวีผู้รักนวนิยายสั้น


บ้านพักสองชั้นทรงลาวฝั่งขวาแม่น้ำของ ตั้งอยู่แคมห้วยวังนองฝั่งตาเว็นออก แทรกตัวอยู่ในสวนผลไม้สไตล์บ้านๆ มีบักเขียบ บักเฟียง บักขาม และกำแพงแผงกกหวดข่าสลับกกมอนที่แตกพุ่มใบเขียวดั้วคล้ายฉัตร เกี้ยวก่ายด้วยเครือหญ้านาง พื้นดินโบราณร่วนปนทรายดูสะอาดเพราะหญ้าถูกดายเสียเมื่อไม่นานมานี้

เรานั่งจิบชาใบหม่อนที่แม่ของกวีหนุ่มชงมาให้ คุยกันถึงประเด็นการสร้างงานกวีในยุคสื่อดิจิตอลออนไลน์...

กวีดีเด่น ดาวดวงใหม่ประจำวารสาร “เมืองฮิมมูน” ปี ๒๕๖๐ ได้ไขข้อข้องใจของนักอ่านหลายๆ คนว่า ทำไมบทกวีของเขาจึงเป็น  กลอนเปล่า และทำไมเขาจึงฝันจะเขียนนวนิยายสั้น เชิญจิบกวีทัศนะได้ ณ วาระนี้

หายโศก :  เล่าที่มาของนามแฝง ฮอย ฮิมมูน ให้รู้จักหน่อย

ฮอย ฮิมมูน : คือบ่ายมื้อหนึ่ง ไปเดินฮิมแม่น้ำมูนแถวๆ หาดคูเดื่อ เดินตีนเปล่า ไปเหยียบเปลือกหอยกาบหรือหอยจีบจี้ เลือดออกเป็นทาง เห็นฮอยเท้าสองสี สีทรายกับสีเลือด โอชีวิต มันมีสีสันนะ ฮอยเลือดบนหาดทรายฮิมแม่น้ำมูน เลยเอามาเขียนเป็นบทกวีบทแรกลงใน เมืองฮิมมูน ตั้งชื่อบทว่า ทางเลือด ใช้นามแฝงว่า ฮอย ฮิมมูน นี่ล่ะ

หายโศก :  เขียนบทกวีดีๆ ทำไมจึงฝันอยากเขียนนวนิยายสั้น

ฮอย ฮิมมูน : อ่านนวนิยายสั้นอิตาลีที่เยาวชนควรอ่านของ อเลซซานโดร บาริกโก เรื่อง ไหม  ที่เขียนขึ้นจากการได้ฟังเรื่องราวจากเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับบรรพบุรุษของเขา เป็นเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่เดินทางไกลไปยังอีกฟากฝั่งโลก มาญี่ปุ่นนี่ล่ะ ตัวละครเอกทำงานนี้เพียงปีละไม่กี่เดือน แต่มีรายได้สูงมาก นวนิยายสั้นเล่มนี้เขียนโดยใช้เทคนิคการแบ่งเป็น บทสั้นๆ จำนวน ๖๕ บท แต่ภาษากระชับ คมคายหลาย แม้คำที่นักเขียนเลือกใช้จะดูเรียบง่าย ก็ตาม ชีวิตคนเราก็ควรเอาอย่างวิธีเขียนของนักเขียนคนนี้นะ และผมก็ตามอ่านงานของ บาริกโก เล่มอื่นๆ อีกนะ ชอบทุกเล่มเลยอยากเขียนมั้ง เอาฉากแถวๆ เมืองเรานี่อาจเป็น ฮิมห้วยวังนอง ทางไปอำเภอตระการพืชผล ผาแต้ม ชายแดนช่องเม็ก หรืออื่นๆ ใส่ลงในนวนิยายสั้น น่าจะหม่วนสนุกดี คุณว่าไหม

หายโศก :  อยากให้เล่าแผนการสร้างฝัน จากกลอนเปล่า ทำไมต้องเป็นนวนิยายสั้น 

ฮอย ฮิมมูน : ก็ไม่มีอะไรมาก กลอนเปล่า หรือบทกวีกาพย์กลอนโคลงฉันท์ มันอาจเขียนเป็นเรื่องยาวอย่างท้าวปางคำรจนาสังสินไซได้ แต่คนอ่านยุคดิจิตอล หรือผมเองก็เถอะ อาจบ่อินบ่เก็ทนำ นิยายน่าจะเหมาะกับสมัยนิยมกว่า ภาษานวนิยายนี่ ผมชอบ ผมว่ามันเรียบง่าย ลดชั้นเชิงการเขียน ดูเป็นเพื่อน เป็นกันเองกับผู้อ่าน อ่าน สัมผัสได้ง่าย คันอยากเขียนบทกวีด้วยนำ กะสามารถใส่ลงไปในนวนิยายได้เลย และนวนิยายสั้นมันเปิดกว้างกว่าเรื่องสั้น และมันก็กระชับกว่านวนิยายขนาดยาว ถูกใจผม ผมพอใจกับมัน พอใจรูปแบบที่ยืดหยุ่น

...

เฮากะจิบชาใบมอนของแม่ แกล้มข้าวจี่ไส้น้ำอ้อยที่แม่กวีท่านกรุณาจี่มาเสิร์ฟ เพราะเห็นคุยกันออกรส บทสนทนากันตอนนั่น ว่าด้วยเรื่องสำมะปิ ความฮักแหนฺ เรื่องหนังสือนำ และเรื่องความเก่าหลังของกันและกัน... จนตาเว็นลับทิวไม้ฝั่งห้วยวังนองที่มีคลื่นน้อยทยอยอำลาแสงสุดท้ายของวัน

---





ซวงใจ

  ซวงใจแท้นอ ฝนมาห่าใหญ่ หญ้าไม้ดีใจ เขียวก่องขึ้นทันตา แปลกแต่จริง  เรารดน้ำหญ้า รดน้ำต้นไม้ทุกวัน น้ำจากดิน น้ำจากท่อต่อจากเครื่องสูบ รดแล...