วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 2 โดย ทางหอม

บทที่ ๒  สุดปรารถนาของกะปอมก่า


ว่าไปแล้ว สัตว์ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหรอก แม้ไม่อ่าน ชีวิตก็ยังดำเนินไปได้ด้วยดี อย่างไม่มีอะไรเสียหาย ยังมีความสุขกับกิจกรรมธรรมดา ๆ การออกหากิน การใช้สัญชาตญาณเป็นอยู่ การเดิน วิ่ง ขับถ่าย นอนหลับพักผ่อน ตลอดจนพูดคุยสนทนากันในหมู่ของตน แต่สำหรับกะปอมก่าตัวหนึ่งนี้ กลับไม่ใช่ 

เขาต้องการอ่าน ไม่สิ เขาต้องการฟังใครสักคนอ่านหนังสือให้ฟัง เพราะเขาอ่านหนังสือได้ช้าเต็มที แต่ถึงแม้จะอ่านได้เร็ว มือของเขาก็เล็กเกินจะเปิดหน้าหนังสือได้อย่างง่ายดายเช่นมนุษย์ทั่วไป การฟังมนุษย์อ่านเรื่องราวในหนังสือให้ฟัง เป็นกิจกรรมที่กะปอมก่าตัวนี้ติดอกติดใจ ขนาดว่า ถ้าขาดสิ่งนี้แล้ว ชีวิตของเขาย่อมเหี่ยวเฉาลง คล้ายหอมต้นเล็ก ๆ ที่ชาวสวนไม่ได้รดน้ำ มาสักสามวันห้าวันนั่นเทียว

ที่ข้างกระท่อม บนต้นสะแบงใหญ่ สูงจากพื้นดินราวห้าเมตร มีนั่งห้างไม้รูปวงกลมล้อมรอบอยู่ มีบันไดไม้วนเป็นเกลียวให้เดินขึ้นสะดวก 

วันแรกที่เจอข่อหล่อ เขานอนอาบแดดอยู่บนราวไม้เหนือลูกกรงของห้าง ที่จริง หากห้างนี้ มีหลังคาและฝาผนัง พร้อมประตูหน้าต่างแล้ว ก็จะเรียกบ้านต้นไม้ได้เลยล่ะ ดูพื้นไม้สิ ปูด้วยไม้มันปลาแก่อย่างดี ลูกกรงและราวนั่นก็ด้วย

สามปีก่อน วันนั้น เด็กหนุ่มปั่นจักรยานมุ่งตรงมาตามทางดินทราย ที่มีไม้ประจำถิ่น พวกหว้า พะยอม ผะอุง ส้มหมั่ง ติ้ว... ยืนเด่นเป็นแนวกั้นระหว่างทุ่งนาสีเหลืองกล้วยสุกกับป่าละเมาะที่มีไม้พุ่ม พวกเล็บแมว ลอมคอม สาบเสือ... ไกลออกไป มองเห็นหมู่บ้านอยู่ลิบ ๆ

มาถึง พิงจักรยานไว้โคนต้น รีบวิ่งขึ้นบันได ทิ้งตัวลงนั่งพิงลำต้นสะแบง ดึงหนังสือปกสีน้ำเงินเล่มเล็กออกมาจากกระเป๋าย่ามผ้าไหมลายตาหม่อง กางหนังสือออกและเริ่มอ่านออกเสียง 

กะปอมก่านอนฟังเรื่องราวเกี่ยวกับนกนางแอ่นหนุ่มตัวหนึ่ง กับเจ้าชายรูปงามที่ถูกปั้นขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ทั้งสองให้สัญญาใจกันและร่วมมือกันช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากในเมืองนั้น มันเป็นเรื่องราวที่กะปอมก่าฟังแล้วรู้สึกตื้นตันใจ จนปริ่ม ๆ จะมีน้ำใส ๆ เอ่อท้นดวงตาเล็ก ๆ ของเขา เพราะถ้อยคำของนักเขียน ที่บรรยายถึงความรู้สึกของนกน้อยผู้อิ่มเอมกับภารกิจสำคัญของชีวิต ได้อย่างชวนซาบซึ้งใจ มีข้อความทำนองว่า การที่เราได้เกิดมาแล้วมีโอกาสแบ่งปัน ช่วยเหลือชีวิตอื่น ๆ นั้น นับเป็นโชคมหาศาลและคุ้มค่าที่ได้เกิดมาอย่างที่สุด แม้ว่าท้ายที่สุด ตนเองอาจต้องสละชีวิตเพื่อภารกิจนั้นก็ตาม

หนังสือในมือเด็กหนุ่มในวันนั้น ปกนอกพิมพ์ชื่อเล่มว่า เจ้าชายผู้มีความสุข ท้ายเล่มระบุชัดว่า ผู้แต่งเป็นนักเขียนและกวีชาวไอริช นามของเขาคือ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wild, 1854-1900).

***




ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 1 โดย ทางหอม

บทที่ ๑ เด็กชายในกระท่อม


ไม่นานมานี้ มี กะปอมก่า ลำคอสีเขียวอมฟ้าตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ต้นสะแบงใหญ่ข้างกระท่อมหลังหนึ่ง ซึ่งเด็กหนุ่มนาม ข่อหล่อ อาศัยอยู่ ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน

เด็กหนุ่มชอบอ่านหนังสือ กะปอมก่าจึงได้ฟังเรื่องราวสดใหม่ จากดินแดนต่างๆ ทั่วโลกอยู่เสมอ

“นายอ่านอะไรอยู่”

“นวนิยายเยาวชน”

“เรื่องอะไรรึ”

พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร ของ ฌอง-หลุยส์ ฟูนิเยร์

“นักเขียนประเทศ?”

“ฝรั่งเศส”

“มันน่าสนใจตรงไหนล่ะ”


“ก็ตรงเป็นเรื่องราวของเด็กชายกับพ่อที่เป็นหมอในชนบท ฉันก็เป็นเด็กชายนะ แต่ไม่ใช่ลูกหมอเหมือนในเล่มนี้”

“ในเรื่องเขาเป็นหมอที่ดี เป็นพ่อที่ดีไหม”

“เป็นหมอใจดี คนไข้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา เขาก็รักษาให้ฟรี  หมอไม่ค่อยรักษาสุขภาพตนเองเลย กินเหล้า สูบบุหรี่ แต่เขาก็เป็นพ่อที่ดีแปลกๆ นะ ต่างจากชาวบ้านชาวเมือง”

สายลมเย็นปลายเดือนตุลาคม โชยพัดไล้ลำตัวกะปอมก่า มันนอนอยู่กลางวงกบหน้าต่าง ทับตรงรูลงกลอน ท่าทางการคุยกับข่อหล่อเพื่อนของมันนั้น เหมือนนักเรียนผู้ใคร่รู้คนหนึ่ง

“นายอ่านมันให้เราฟังได้ไหม อยากฟังแล้วล่ะ”

“ได้สิ ถ้านายต้องการ”

***





วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ทางหอม | แนะนำตัว


 เว็บบล็อกชื่อ thanghom (ทางหอม)  ตั้งใจนำเสนองานเขียนรูปแบบ "วรรณนิยาย" ที่หลากหลาย โดยจะเน้นไปที่การนำตัวบทชีวิตของผู้แต่งและคนรอบข้างรวมทั้งผู้คนที่ผ่านพบ มาปรุงรสปรับเเรื่อง เลือกบทตอนชวนพิศมาเพิ่มลิมิตของพลังวรรณศิลป์ 

"ทางหอม" เป็นนามของนักพร่ำคำแต้ม (อาจใช่ หรือไม่ใช่ กลอนเปล่า หรือ กวีร้อยแก้ว) ที่เริ่มงานเขียนมาแล้วในโลกออนไลน์ส่วนตัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และเริ่มเผยแพร่งานในเฟซบุ๊คส่วนตัวนาม 

thirayuttha butsabongkha: https://www.facebook.com/thhbhs  

ในเพจ ทางหอมบุ๊คเฮ้าส์  ในเพจ คำแต้ม จนกระทั่งมีเว็บไซต์ส่วนตัว  kamtaem.com อันเป็นที่ทางนำเสนอผลงานส่วนตัว  

https://www.kamtaem.com/

นอกจากงานในนามนักพร่ำคำแต้ม แล้ว  ทางหอม ยังมีงานเรื่อง กะปอมก่ากับข่อหล่อ เพื่อนกัน  ที่ถือเป็นผลงานเรื่องเล่าขนาดสั้นหรือนวนิยายสั้นเรื่องแรกของ ทางหอม  



เขาเรียกรูปแบบงานเขียนเรื่องนี้ว่า "วรรณนิยาย" เรื่องเล่าเพื่อเยาวชน หรือ วรรณกรรมเยาวชน หรือ นิยายสั้นสิบบท  บรรจุเรื่องราวบางเสี้ยวฉากชีวิตส่วนตัวที่เขาประทับใจ ปรุงด้วยความคิดฝันเกี่ยวแก่สังคมนิยมหนังสือ ผู้อ่านที่สนใจก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ลิ้งค์ที่วางไว้นี้นะครับ  

https://www.blockdit.com/series/5db55cd0dbd7b70cfeedca70

และยังมี saimingsainan.com อีกที่ๆ มีงานของ ทางหอม แสดงตัวตนอยู่ เชิญแวะไปให้กำลังใจกันครับ  

http://saimingsainan.com/2019/12/24/%e0%b8%81%e0%b8%b0%e0%b8%9b%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%88/

สำหรับที่นี่ ทางหอม | https://www.thanghom.blogspot.com จะเป็นอีกทุ่งนาสวนของ ทางหอม  ที่ยินดีจะนำเสนอผลงานเรื่องต่อๆ ไป  ให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกัน...


ด้วยรักและนับถือผู้อ่าน

ทางหอม
จ.16.11.2563

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผู้มาก่อน


อาคารของสงบพริ้ม
มณฑปสีกลีบลำดวน
หลายใจเพียรพนมมือ
นมัสการความเบิกบาน

เธอไม่มีชื่อใด
มดดำในซอกกลีบ
อาศัยเป็นที่พักร้อน

ข้อปล้องของคำรำพึง
นับได้ไหมเล่า
'ประกายทองแท้'
ในชั่วขณะลมไหวใบวาบ

ในระเบียบกิ่งก้าน
เธอเป็นดารา
นำแสดงบทบาท
ผู้มาก่อนฤดูกาล

พฤศจิกายน  ลมหนาว
มีนาคมที่จะถึง  หนาวใด?

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
อังคาร 5 พ.ย. 2556

-----

|เล่าตามคำแต้ม|
ชายหน้าเศร้า

เมืองเราเป็นเมืองปิดมานาน  เมืองที่สนุกสนานเบิกบานของพ่อค้าแม่ขาย เจ้าหน้าที่เมืองรุ่นเก่าและเครือข่าย เมืองที่เคลื่อนตัวไปอย่างเอื่อยอ้อยสร้อยของชาวบ้านชาวเมือง เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และคนตกงาน  ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น

สมัยนั่น 'บางคน' นับหัวได้ที่เกิดมาพร้อมใบหน้ายิ้มแย้ม แต่หลายต่อหลายคน หรือต้องเรียกว่า 'คนส่วนใหญ่' นั่นแหละ ต่างก็เกิดมาพร้อมใบหน้านิ่งราวหุ่นฟางไล่กาบนคันแทนาในฤดูนาปรัง

อย่างไรก็ช่าง  เมืองของเรา สามร้อยปีแล้วตั้งแต่ก่อเกิด ไม่ปรากฏในความทรงจำใครเลย ว่ามีคนใบหน้าเศร้า  มีเพียง ยิ้ม กับ นิ่ง

จนเมื่อชายคนหนึ่งย้ายเข้ามาเช่าเฮือนพักของโฮงเฮือนกกไม้ชื่อ "มิ่งแมนแนนสาย" ตรงหัวมุมถนนกกหว้าตัดกับถนนกกกะยอม ในปีเถาะรอบที่แล้วนั่นดอก คนในเมืองเฮาจึงค่อยเริ่มรู้จักคนหน้าเศร้าคนแรก ก็คือชายเจ้าของเฮือนเช่ากกส้มแบงหลังแอ่นนั่นล่ะ
 
ที่จริง ชายคนนี้ก็ไม่เชิงว่าย้ายมาอยู่ใหม่อีหยังดอก  เพราะเขาก็คือคนเมืองเฮานี่เอง

สมัยหอมกระเทียมยังเป็นสินค้าส่งออกประจำเมือง คนกว่าครึ่งค่อนเป็นชาวสวนหอมกระเทียม  พ่อแม่ของเขาก็คือหนึ่งในคนส่วนใหญ่นี้ 

แต่พอวิกฤตราคาหอมกระเทียมห้าปีติดต่อกันครั้งนั้น ประกอบกับสภาเมืองออกนโยบายว่าด้วยการปฏิรูปและพัฒนาเมืองหลังสมัยใหม่ เน้นให้ชาวเมืองเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรมาเป็นผู้ประกอบการโฮงเฮือนกกไม้ให้พักเซา ท่ามกลางธรรมชาติบ้านนาป่าสวน ประธานเมืองและคณะประสานการก่อสร้างบ้านต้นไม้กับวิศวกร สถาปนิก และนายช่างรับเหมาพร้อมทีมงานที่มีชื่อเสียงของเมือง ซึ่งหลายต่อหลายคนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลการออกแบบและสร้างบ้านต้นไม้จากเวทีประกวดระดับโลกมาแล้ว รวมทั้งวางแผนเชื่อมต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิถีชนกับทางการส่วนกลางและประเทศอ้อมข้างอ้อมแอว โฆษณาในเว็บไซต์-แฟล็ตฟอร์มชั้นนำ ให้คนมาพักอยู่กินในเมืองของเฮา โดยใช้สโลแกนว่า "พักสบายตลอดทริป เรียนรู้ประกายวับวิบ ทางกะพริบชีวิตคนหอมกระเทียม หนึ่งเดียวในโลกา"

นั่นแหละ ๆ ตอนนั้น  เขาจบมัธยมปลายพอดี พ่อแม่จึงให้เขาตัดสินใจจะอยู่ช่วยท่าน ทำธุรกิจบ้านต้นไม้ตามนโยบายของเมือง ที่สภาเมืองมีศูนย์อบรมพัฒนาให้เบ็ดเสร็จ พร้อมมีทุนสำรองให้ทุกบ้านที่ต้องการเปลี่ยนจากทำเกษตรเป็นทำธุรกิจ  ส่วนที่ไม่พร้อม ไม่ต้องการวิถีใหม่ ทางเมืองก็รับเข้าทำงานในระบบโครงข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนเมือง โดยบรรจุงานตามความถนัดและสมัครใจ  

เมืองเราจึงไม่มีคนตกงาน มีอยู่มีกิน มีสวัสดิการดีถ้วนหน้า เพราะกว่าห้าสิบปีแล้ว ที่ชาวเมืองพร้อมใจออมเงินเป็นกองทุนสวัสดิการเมือง 40%ของรายได้ต่อปี  ช่วงที่หอมกระเทียมราคาดี กองทุนเมืองจึงมีเงินรวมกว่าแปดร้อยล้าน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเมือง ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ให้นำไปตั้งกองทุนรวมแบบสภาพคล่องเยี่ยม ความเสี่ยงระดับกลางมาต่ำ ในตลาดหลักทรัพย์  จนถึงตอนที่เขาจบมัธยมปลายก็มีดอกกำไรรวมเงินต้นกว่าห้าหมื่นล้าน  ลูกหลานที่มีหน่วยก้านดี เมืองก็ส่งไปเรียนวิชาอาขีพหลากหลายแขนงตามแผนงานของเมืองที่วางไว้ สู่อนาคตที่สดชื่นของชาวเมืองทุกคน นั่นเอง  เขาจึงเดินทางไปเรียนต่อต่างเมือง 

เมืองที่เขาเลือกไปเรียน เปิดสอนวิชาหนังสือและวรรณกรรมประวัติศาสตร์ความเศร้า ใช่! เขาจบสาขานี้ และกลับมาสานต่อแผนงานของเมือง ฝ่ายหนังสือประจำเมือง (การสร้างสรรค์ คัดสรร และจัดพิมพ์หนังสือวรรณกรรมประจำเมืองชุด "ความเศร้าในรูปเงาชาวหอมกระเทียม")  

หนังสือของฝ่ายวานนี้ งานสวัสดิการสติปัญญาของเมืองนำไปไว้ประจำเฮือนเช่ากกไม้ทุกห้อง ทุกหลัง ให้แขกคนที่มาเที่ยวมาพัก ได้อ่าน ได้รู้จักประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของเมืองเรา แบบที่พวกเขาจะจดจำไปชั่วชีวิต  และอดไม่ไหว จะต้องไปบอกต่อให้คนมาเที่ยว กินอยู่ ใช้จ่ายที่เมืองเราอย่างต่อเนื่อง  สืบไป  และยังส่งให้ทุกบ้านมีไว้อ่านปูมหลังเมืองของยรรพชนฮ่วมกันนำพร้อม

"บอกอ ที่แพงฮัก เรื่องข่อยต้องปรับปรุงจังใด๋ บ่น้อ" สาวนักเขียนประจำเมืองถาม
"อืมม... มีนิดนึงนะ อ้าว...นี่ต้นฉบับและลายมือที่ตรวจแก้แล้ว เอาไปอ่านทวนเดอ บ่เข้าใจส่วนใด เดี๋ยวแวมาโสกัน อีกเทื่อ" ชายหน้าเศร้า บอกอหนังสือวรรณกรรมประวัติศาสตร์ความเศร้าประจำเมือง ยิ้มน้อยๆ ให้สาวน้อยนักเขียนหน้าใหม่
"เนื้อหา เกี่ยวแก่ประวัติกลุ่มแม่ญี่แม่ญ่านักมัดผัก พอได้ยุน้อ อ้ายบอกอ" น่ำเสียงเธออ่อนหวาน สำเนียงวาทชันแข็งแรงอมความจริงใจเป็นที่สุด
"ได้แหม ได้ งามเลย  แก้กันอีกรอบเดี๋ยวส่งโรงพิมพ์ประจำเมือง ให้เขาออกแบบ จัดหน้า หาคนวาดปก แล้วได้ ประชุมกองบอกอเมืองอีกเทื่อ สรุปงานบั้นท้ายนั่นแล้ว กะสิได้พิมพ์เล่มล่ะ  ดีใจนำนะ" ชายหน้าเศร้ายิ้มยินดีกับคู่สนทนา..

|คีต์ คิมหันต์|
พุธ 4.11.2563/2020










วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Blogger กับบทเรียนจาก kamtaem | ตอน 1 ไปต่อดีไหม?


แรกเริ่มรู้จัก Blogger จากเพื่อนรุ่นน้อง ผู้มีประสบการณ์ ในการหาเงินในโลกออนไลน์มาหลายปี ก็แน่ล่ะ รายได้ คือแรงดึงดูด กระตุ้นให้อยากมีบล็อกเป็นของตนเอง

ใช่ครับ...หากการเขียนบล็อก มีรายได้ และเป็นรายได้ที่เลี้ยงปากท้องได้ มันก็น่าสนใจมากถึงมากที่สุด เพราะเราพอมีประสบการณ์การเขียนเป็นทุนอยู่บ้าง และเราอยากยึดอาชีพเขียนจริงจัง ไม่ต้องเกาะอาศัยอาชีพงานประจำที่แย่งเวลา อ่าน-คิด-เขียน ของเราไป

คิด เขียน มีรายได้ คือทางที่เราคิดหวัง ไม่ใช่ ทำงานประจำ มีรายได้ ว่างๆ ค่อยคิดค่อยเขียน

ผมจึงเริ่มสร้างเว็บบล็อกนี้มา ตั้งเดือนตุลา ปี 2562  ถึงตอนนี้ก็ครบ 1 ปี แล้ว  และเริ่มมีโฆษณาในหน้าเว็บแล้ว 2 สัปดาห์ แล้วเมื่อวาน ก็โดนระงับการลงโฆษณาไปเรียบนร้อย










เดี๋ยวมาคุยเรื่องโดนระงับกัน  แต่ก่อนคุยเรื่องนี้ ขอท้าวความความเป็นมาของคำแต้มก่อนครับ

ผมสร้าง kamtaem.com ใช้เนื้อหาบทกวีที่เขียนเอง ใช้รูปที่ถ่ายเองทำปก และปกบทความแต่ลำชิ้นก็ออกแบบเอง  ดังนั้น ด้านเนื้อหาจึงผ่านนโยบายของ google ไม่ยาก และจะไม่ถูกระงับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้เลยในชีวิตนี้  ข้อนี้รับประกันตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ต่อหัวใจดวงน้อยๆ นี้

เมื่อลงบทกวี หรือ ที่ผมพอใจเรียกมันว่า "คำแต้ม" ของตนไปได้หลักสิบ หลายสิบชิ้น ก็พยายามวางโค้ดโฆษณาในเว็บ kamtaem.com แต่เราไม่มีความรู้เกี่ยวแก่คำสั่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ จึงหาความรู้และ ทำตามคำแนะนำของกูเกิล  แม้ว่าผมจะผูกบัญชีกับ Google AdSense ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตอนที่ทำช่องยูทูป  ซึ่งใช้บัญชีgoogle คนละบัญชีกับที่ทำ blogger ซึ่งการเชื่อมบัญชีนี้ไม่ได้มีปัญหาแต่ประการใด มันยากตรงนำโค้ดโฆษณา ไปวางใน head to head ของเว็บในฐาน HTML งมซาวลองผิดลองถูกอยู่นานก็ไม่เป็นผล

ระหว่างนั้น เหลือบเห็นคำเชิญชวนใน Google AdSense ของตนว่า ถ้าอัพจาก kamtaem.blogspot.com โดยซื้อโดเมนเป็นของตน จะสามารถเชื่อมต่อกับGoogle AdSense เพื่อให้มีโฆษณาในเว็บที่อัพแล้วโดยง่าย  ซึ่งค่าการจะโดเมนนี้ ตก 3200 กว่านิดๆ โดยผ่อนรายเดือนผ่านบัตรเอา (นี่เริ่มมีค่าใช้จ่ายแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีรายได้เลย)

เอานะ ลุยลองดู  นั่นแหละ ผมจึงได้เว็บ kamtaem.com นี้มา

พอเป็น kamtaem.com แล้ว โพสต์ก็โพสต์ไปใกล้ 100 แล้ว โฆษณาก็ยังไม่ขึ้นอยู่ดี จึงทิ้งไว้ตั้งแต่ต้นปี 2563 แม้ช่วงโควิดที่มีวันหยุดเยอะ ก็ไม่ได้โพสต์ใดๆ เพิ่มอีก น่าจะหยุดไปนานร่วม 3 เดือนนะ  แต่ก็ไม่ได้หยุดงานหารายได้ในโลกดิจิตอลนะ  ไปมุทำคลิปลงยูทูบ ทำแฟนเพจในเฟส แทน

เมื่อต้นเดือนสิงหา หรือกันยา ไม่แน่ใจ  ได้พยายามใหม่อีกครั้ง เพราะมีอีเมลเตือนให้วางรหัสโค้ดโฆษณาลงเว็บตน  คราวนี้ศึกษา copy โค้ด ไปวางใน HTML ใน Theme ของเว็บ 

ทิ้งไว้อีกเกือบเดือน ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2563 นี่เอง  เพื่อนรุนน้องที่แนะนำการสร้างบล็อกเกอร์หารายได้ ทักมาในกล่องข้อความ ว่าเว็บผมมีโฆษณาแล้ว  ดีใจมาก เราคุยกันเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ปลื้มดีใจมาก

นั่น ทำให้มีกำลังใจ วางแผนเขียนงาน และโพสต์ลงตลอดสองสามสัปดาห์มานี้

แล้วหัวใจหักห่อเหี่ยวลง เมื่อเจอการแจ้งระงับบัญชีโฆษณาแล้ว เมื่อเช้า


เอาล่ะ  เข้าประเด็นกัน  ว่าเราจะไปต่อไหม เมื่อมาถึงจุดนี้ หรือจะหันหลังให้พื้นที่เขียนงานในออนไลน์  หันไปเขียนเก็บอย่างเดิม  เขียนจบค่อยขัดเกลา ปรับแรุงพัฒนา  ไเที่ค่อยหาเงินพิมพ์ขายเองอย่างที่ทำมา ซึ่ง ประสบการณ์การตรงนั่น มันสอนเรานะ มันเหนื่อย ได้กำไรนิดเดียว จากการลงแรงใจกายและทุนมากมาย แย่ลงมาอีกก็เท่าทุน หรือแย่สุดๆ ก็ขาดทุนและเสียพลังงานแบบที่นักเขียน-ศิลปิน ไม่ควรจะเสีย

สาเหตุ ก็ตามภาพครับ อธิบายก็ได้  ผมใช้เครื่องเมียเข้าดูเว็บตนเองครับ เข้าดูบ่อยดูนาน เห็นโฆษณาแล้วปลื้ม แต่เราอ่านกติกาไม่ละเอียด  "การดูที่ไม่ถูกต้อง" มันฟ้องครับ 

ทั้งที่ไม่มีเจตนาจะปั่นวิว ไม่เจตนาจะรีเฟรซหน้าเว็บเพื่อเพิ่มการดูโฆษณา แต่ต้องการดูว่ามีโฆษณาอะไนเข้าบ้าง ที่เราตั้งค่าโฆษณาไว้ส่าให้สอดคล้องกับเนื้อหา มันแสดงออกมายังไง ไม่เจตนาจะคลิกดูโฆษณาเดิมซ้ำๆ แต่เพราะสนใจโฆษณานั้นจริงๆ แต่ก็นั่นแหละครับ มันผิดกติกา  ยอมรับผิดครับ ลูกผู้ชายทำแล้วยอมรับ

เป็นอุทธาหรณ์ เป็นบทเรียนครับ  ต้องศึกษา ต้องทำให้ถูกกติกา 

เรามีเนื้อหา มีพื้นที่ มีเว็บ  เจ้าของสินค้ามีสินค้า มีต้นทุน ต้องการคนดูคนซื้อ Google AdSense ก็มีหน้าที่ตัวกลางเชื่อมต่อให้ และเขาก็ต้องได้ส่วนแบ่งตามเกณฑ์ ทั้งสามคนนี้ต้องจริงใจต่อกัน ร่วมมือกันทำให้คนสนใจเข้ามาอ่านงานเขียน มาดูโฆษณาจะได้ขายสินค้าได้เยอะๆ  นี่คือโลกของผลประโยชน์ที่เป็นธรรม...

บทเรียนนี้ เมื่อศึกษาทบทวนแล้ว ผมจึงสรุปเตือนใจตนเอง และแบ่งปันมายังผู้อ่าน ว่าห้ามทำอะไรบ้างในเว็บ blogger ของเรา จึงจะไม่ถูกระงับบัญชีโฆษณา ลองทบทวนไปด้วยกันครับ

   1. ห้ามให้เมีย เพื่อน หรือใครๆ เข้าดูหน้าเว็บหน้าเนื้อหาของเราแบบซ้ำๆ โดยไม่อ่านเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามรีเซตหน้าเพื่อดูโฆษณา ห้ามคลิกดูโฆษณาซ้ำตัวเดิมในหน้าเนื้อหาเดิมที่เปิดอ่านอยู่ หรือแม้มาเปิดอ่านใหม่ก็ตาม  นี่ผมเจอข้อนี้ครับ จึงถูกระงับ 555 (ไม่ได้เจตนา... แต่มันไม่ถูกต้อง)

   2. ห้ามยิงโฆษณาเว็บเพื่อดึงคนมาดูเว็บเราเพิ่มขึ้น  อันนี้ผมไม่โดนนะ แต่เข้าข่าย เพราะผมยิงโฆษณาด้วยเพจในเฟชบุ๊ก 3 ครั้งแล้ว  ต่อไปไม่พึงกระทำ

   3. ไม่ควรแชร์ไปกลุ่มเฟชบุ๊กที่ตนเองสร้างขึ้น  เพราะอาจเข้าข่ายเชิญชวนให้คนเข้าดูเว็บ แบบมีข้อแลกเปลี่ยน หรือสัญญาจะตอบแทน... ตัดปัญหาครับ อย่าทำน่าจะดีกว่า  ถ้าจะแชร์ไปกลุ่มก็ควรแชร์ไปกลุ่มที่คนอื่นสร้าง ที่เราไปขอเป็นสมาชิก

ในส่วนการแชร์ไปในกล่องข้อความหาเพื่อน แชร์ไปเพจ หรือ แชร์ไปฟีดข่าวกน้าเฟชของตน  ก็น่าแชร์ได้ตามปกตินะครับ  แต่ผมว่า ควรแชร์ไปเลย แบบไม่ต้องเขียนอะไรกำกับ

ถึงตรงนี้  ผมว่า ผมจะทำ blogger ต่อไหม จะไปต่อไหม? มันดูมีกติกาหยุ่มหยิม เขาใช้เราเป็นเครื่องมือหากินไหม เราแค่หมากในกระดานใคร อย่างไรหรือไม่  มันคุ้มไหม ถ้าไปต่อ

ผู้อ่านครับ ผมมีคำตอบครับ

ผมจะคิด เขียน โพสต์ลง blogger เว็บ kamtaem.com นี้ของผมต่อครับ โดยจะไม่ไปแตะเรื่องการดูที่เขาห้าม ดังกล่าว

ผมจะคิด เขียน ทำปก โพสต์ไปเรื่อยๆ แชร์ลงฟีดข่าวหน้าเฟช และหน้าเพจ ก็พอ ไม่แชร์ไปในกล่องข้อความหาเพื่อนอีก (มันอาจเป็นเหตุให้ผิดกติกาได้) แต่อาจแนะนำเว็บตนเองแก่คนรู้จักบ้างตามกาลเทศะสมควร 

ลองดูว่า จะมีคนดูเว็บเราจริงๆ แค่ไหน อยากรู้เหมือนกัน

อย่างน้อยเราก็มีพื้นที่เก็บและเผยแพร่งานเขียน ที่พร้อมให้คนเข้มาอ่าน อะนะ

ส่วนรายได้ ก็หวังครับ แต่หวังนิดเดียว เพราะหวังมากจะผิดหวัง กลั้นใจตายไปก่อนอายุขัย.









ผู้ร้อยรุ่น

ลักยิ้มของวันจันทร์
ลานบ้านสีดอกมะยม
ลูกชายไหว้ย่าของหลาน
เลี้ยงดูสองรุ่นแล้ว

เธอยืนต้นหน้าบ้าน
พริ้มดอกประดับร่าง
พร้อยลูกแต่งเรือน

วรรคทองของเงาร่ม
สลักระหว่างวัย
'สะท้อน ย้อนแย้ง'
ย่าหนึ่ง-หลานหนึ่ง

วันแห่งเสียงสรวล
เธอรับแรงปีนป่าย
หลานไปซ้าย
ทั้งที่ย่าพร่ำบอก
"ไปขวานะลูก"

ละครความรัก
ดำเนินเรื่องในลานร่ม
ตราบสิ้นเผ่าพันธุ์

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
อ.5.11.2556

------

|เล่าตามคำแต้ม|
ตอน ชายแจกใบปลิว

ยอมรับ แบบไม่ที่เหตุผลค้าน ชายคนนั้นทำให้คนเมืองเราต้องหันมามองตนเองใหม่ คำถามที่กึกก้องในใจชาวเมืองทุกคน ตั้งแต่เด็กที่เพิ่งคิดอ่านเป็น ไปจนถึงคนชราและคนป่วยหนักจะเข้าโรงในชั่วโมงสองชั่วโมงนี้คือ 

"ส่องใส คืออะไรในตัวเรา ส่องใสจะสว่างไสวแค่ไหนเพียงใด ยาวนานเพียงไหน สำหรับเมืองเล็กๆ ของเรา"

ทุกวัน ชายชรานัยน์ตาดำขลับเป็นประกาย ประหนึ่งแอบไปเปลี่ยนดวงตาเด็กหนุ่มมาหมาดๆ ผิวคล้ำพองาม คล้ำเพราะการเดินกลางแดด เทียวเดินแจกใบปลิวลายมือตัวอักษรธรรมลาว ตามถนนรนแคม ตรอกซอกซอย ไม่เว้นแม้ในสวนส้มแบงสาธารณะประจำเมือง ตามสี่แยกไฟแดง ตามโรงหมอลำประจำทิศของเมือง ตามซุ้มน้ำชาดอกขะยอม...


"ส่องใส" คือคำตัวอักษรธรรม ที่ชายชราเทียวแจกจ่ายยายปัน อันเจตนา ความหมายเพิ่นไม่ได้บอก เพียงแต่กระซิบกับผู้ยอมรับใบปลิวทุกคนว่า "อ่านแนเดอ วันละสามเวลา ตื่นนอน ก่อนข้าวเพล และก่อนนอน  ใผอ่าน ท่องทุกวันตามนั่น จะได้ฮู้ว่า เจ้าของคือใผ ชีวิตที่เกลืออยู่สิก้าวเดินไปทางใด๋"

ชายชราตั้งใจจะแจกจ่ายยายปันใบปลิวนั้นให้ครบ "สามพันใบ" ในขณะที่ชาวเมืองเรามีจำนวนถึงเจ็ด-แปดพันคน 

วันหนึ่ง วันที่เขาแจกใบปลิวครบแล้ว เขามานั่งพักตรงม้านั่งเหล็กสไตล์อังกฤษยุควิคตอเรีย มุมหนึ่งของสวนสาธารณะส้มแบงของเรา บังเอิญเหลือเกิน ที่ผมนั่งอยู่ตรงข้ามเขา ตอนนั้น ตะวันเพิ่งตกดิน เป็นต้นเดือนพฤศจิกา ต้นหนาวพอดี ลมหนาวระลอกแรกจากทิศเหนือแผ่พัดไอเย็นมาปะทะใบหน้าชาวเมืองเป็นครั้งคราว ยามลมแรงเราถึงต้องหลับตา ดลัวฝุ่นดินที่ลมหอบมาด้วยจะเข้าตา  จนทำให้มองอะไรไม่เห็น เขาเพ่งมองต้นส้มแบงที่กำลังจะผลัดใบ ใบเหลืองอ่อนเหลืองแก่เริ่มแผ่ลามทรงพุ่ม ที่ยังเขียวก็เหลือเป็นหย่อมๆ เล็กๆ บางแห่งเหมือนจุดที่แต้มด้วยปากกาหมึกซึมปลายมนขนาดใหญ่ ที่แห้งออกสีน้ำตาลหม่นเริ่มค่อยคืบคลานลามเลียผืนเหลืองแก่ ชายชรามองไปมองมา แล้วก็ก้มลงมองสนามหญ้าตรงปลายรองเท้าแตะของตน

|คีต์ คิมหันต์|
ศ.30.10.2563





































 


วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้ปีนป่าย



พุธของความลิงโลด
รั้วสีดอกเข็ม
บางคนยังสำรวจ
ตื่นเห็นในความตื่น

เธอชวนเพ่งพิศ
ใต้ชายคาสีคล้ำหม่น
ขับดอกไม้ให้เด่นพิเศษ

ท่าทางของถ้อยคำ
เชื่อว่าข้างบน
'สวรรค์ลูกห่าม ๆ'
จักไปชิมรสเป็นยา

ชั่วระยะสุดเอื้อมหนึ่ง
เธอจัดร่างประณีต
ค่อยเคลื่อนกาย
ตามเส้นหญ้าแห้งนั้น

รหัสความสูงต่ำ ยากง่าย
ขานอ่านได้ด้วยรอยยิ้ม

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
อา. 3 พ.ย. 2556

------

|เล่าตามคำแต้ม|
บ้านเช่าฝาไม้ไผ่สาน

นับหลายเดือนแล้ว ที่เขาย้ายเขามาอยู่บ้านเช่าหลังนี้

บ้านไม้ใต้ถุนโล่ง หลังคามุงสังกะสี ฝาไม้ไผ่สานประณีตออกสีหม่นเป็นผนังรอบตัวบ้านชั้นสอง ที่ไม่กั้นห้อง มีบันไดไม้อยู่ตรงมุมด้านใน ลงขั้นสุดท้ายมาแล้ว เดินวนออกไปทางซ้ายนอกชายคา ไม่ถึงสิบก้าวก็เป็นห้องน้ำหลังเล็กที่ปลูกขึ้นติดรั้วลวดหนาม มีต้นมะม่วงใหญ่ให้ร่มเงา ถัดจากห้องน้ำไปตามแนวรั้วอีกราวยี่สิบก้าวเป็นบ่อน้ำส่าง นี่คือจุดขายของบ้านหลังนี้ที่เขาพอใจมาก

ชายชรานั่งจิบชาใบป่าช้าเหงาอยู่บนแคร่สะแนนไม้ใผ่ ตรงมุมใต้ถุนบ้านด้านติดถนน มีรั้วกระถินแคระสูงเพียงเอวกั้นอยู่ ลมหนาวระลอกแรกเริ่มแทรกตัวมาในทุกอณูอากาศ เริ่มจากวันที่ 14 ตุลาคม ถึงวันนี้ก็นานเป็นสองสัปดาห์แล้ว มันช่วยได้มากทีเดียว สวนผักหลังบ้านดูจะดีใจ แตกใบเขียวก่องผ่องแพร้วน่าเก็บลวกจิ้มแจ่ว 

เช้านี้ เขาเพิ่งโรยปุ๋ยขี้ไก่เดือน บรรจงใช้ครุถัง ตักน้ำในบ่อส่างขึ้นใส่บัวรดน้ำ พอเต็มแล้วก็หาบบัวรดน้ำให้ลูกน้อยๆ ทั้งแปลง ฉ่ำชื่นจากใบไปจนถึงรากในเนื้อแผ่นดิน แล้วนั่งลงถอนหญ้า-วัชพืช สายตาหาเก็บตัวบ้งตัวหนอนไปทิ้ง ขณะปากก็ฮำเพลงลำ ทุ่งร้างนางลืม ของไก่ฟ้า ดาดวง สำนวนกลอนลำเดินขอนแก่นอันลือลั่นของอาจารย์สุพรรณ ชื่นชม

เหมือนเด็กหนุ่มสี่คน ในความฝันเมื่อคืน เหมือนกำลังเดินใกล้เข้ามา ใช่สิ พวกเขาคงว่างแวะมาทักถาม ขณะเขาจิบชาถ้วยที่สอง

ทั้งสี่หนุ่มน้อย กลับจากวิ่งออกกำลังกายยามเช้า วิ่งจากบ้านเช่า ไปตามทางในหมู่บ้าน ทะลุออกสู่ทางระหว่างหมู่บ้าน  สองข้างทางขนาบด้วยท้องทุ่งนา ข้าวกำลังทอรวงใหม่เขียว เสียงหมอลำรุ่งโรจน์ เพชรธงชัย ลำเพลินกลอนหน้าฝนทนเศร้า  ...จวนสิถึงกฐิน กลิ่นนางบ่ทันผ้อ ปอตัดแล้วซุมแนวบ่จ่ง... มาวอนๆ จากวิทยุใครสักคน เคล้าเสียงลมหนาวพัดมาเข้าจังหวะ ปลุกป่าข้าวกองามเต็มทุ่งให้วาดไหวโอนเอนยวบยาบ  เป็นคลื่นระลอกเขียวคล้ายมหกรรมความฝันอันยิ่งใหญ่... แสงทองค่อยๆ เรื่อเรืองขึ้นทาบทาทีละน้อยๆ เสียงรองเท้าผ้าใบสีน้ำตาลที่ห่อหุ้มเท้าทั้งแปด ตกกระทบทางดินแซมหญ้า ดัง ปุ๊บปั๊บๆ เป็นจังหวะ ค่อยๆ เงียบหายไป...

เขาเฝ้าดูเด็กหนุ่มทั้งสี่ทำกิจวัตร ตั้งแต่อ่านหนังสือ จัดหนังสือ-สมุดตามตารางเรียน หม่าข้าว  เข้านอน ก่อนฟ้าจะสาง เด็กหนุ่มคนแรกจะตื่นมาก่อไฟจากฟืนไม้แห้งที่เก็บจากกิ่งไม้หักภายในบริเวณบ้าน ซาวข้าว ล้างใส่หวด ตั้งหม้อนึ่งข้าว รอเพื่อนอีกสามคนตื่น แล้วออกไปวิ่งออกกำลังกาย กลับมาถึง คนหนึ่งส่ายข้าวใส่ก่องกระติบ อีกคนเจียวไข่ใส่ผักที่เก็บจากริมรั้วและแปลงปลูก คนที่สามกำลังตักน้ำรดผักสวนครัวในแปลง คนที่สี่อาบน้ำ แต่งตัว แล้วมาเตรียมภาชน์ข้าว รออีกสามคนเวียนกันเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ล้างจานเสร็จก็จบภารกิจประจำเช้า จากนั้นเด็กหนุ่มทั้งสี่ก็คว้าสมุดหนังสือ ออกเดินไปโรงเรียนพร้อมกัน...

ชายชราจิบชาถ้วยที่สาม "วันนี้สินะ" เขาพึมพำ สายๆ จะออกไปรอเพื่อนสามคน ที่ส่งข่าวมาบอก "นัดกันมาระลึกความหลังสักหน่อย"

สถานีขนส่งเล็กๆ ในเมืองเงียบๆ แห่งนี้ อยู่ถัดออกไปสามบล็อก เขาสวมรองเท้าแตะ เดินเล่นไป ฮัมกลอนลำไป เหมือนเด็กหนุ่มมัธยมในอดีตสักคน

"บ้านหลังเดิมน้อนี่ เข้าใจว่าอ้ายอ๋อ ผู้เป็นเจ้าของมาบูรณะโดยใช้โครงสร้างเดิมๆ แท้ๆ" เพื่อนผมสีดอกเลาพูดขึ้น มือขวาดึงสายสะพายกระชับเป้ใบย่อม ขณะเดินผ่านประตูรั้วเข้ามา
"แปลกแท้เด ทุกอย่างดูเหมือนเดิมตั้งแต่ 32 ปีที่แล้ว" ชายแก่หน้าหนุ่มที่สวมกางเกงยีนส์สีดำพูดบ้าง
"ฮ่าฮ่าฮ่า...น้ำส่างยังอยู่ ห้องน้ำทรงเดิม ...นั่นเจ้าปลูกผักบนที่ที่เก่า แต่งามกว่าเก่า" อีกคนน้ำเสียงตื่นเต้น
"คึดหมั่น สื่อๆ ดอก" เขาอมยิ้ม เหมือนตนฝันไป ฝันเป็นตุเป็นตะทีเดียว

คีต์ คิมหันต์
อัง. 27 ต.ค. 2563































บทเพลง คึดได้ไปเป็น l บ่าวทิ ยางชุมน้อย

ว่าด้วยที่มาของบทเพลง "คึดได้ไปเป็น" •เกิดมาน้อยเท่าใหญ่ ฟังเพลงบอกรักหรือแสดงบุญคุณแม่พ่อ ก็มีแต่เพลงแยก •มีเพลงแม่ อย่าง ค่าน้ำน...